- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 22 March 2021 10:33
- Hits: 10547
ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จากความกังวลผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ Astrazeneca และการแพร่ระบาดใหม่ในยุโรป ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และมาตรการ QE ของเฟด
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 22 มีนาคม 2564
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 61-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (22 - 26 มี.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวในกรอบแคบ หลังวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท Astrazeneca ถูกระงับหรือเลื่อนการฉีดออกไปในกลุ่มประเทศยุโรป อาทิเช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส หลังพบผู้เสียชิวิตจากการฉีดวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่พบข้อพิสูจน์ถึงผลข้างเคียง นอกจากนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายประเทศต้องบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบนั้นได้รับแรงหนุนจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ต่อเนื่องเพื่อพยุงและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ :
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันหลังประเทศในยุโรปอย่างน้อย 17 ประเทศ รวมถึงเยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี ได้ประกาศระงับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ AstraZeneca เนื่องจากพบรายงานผู้เสียชีวิตราว 30 รายจากอาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และผลข้างเคียงที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ยังไม่พบหลักฐานข้อพิสูจน์เกี่ยวกับผลข้างเคียงและยังมองว่าการฉีดวัคซีนยังคงมีผลดีมากกว่าผลเสีย
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 121 ล้านคน และยอดผู้เสียชีวิตราว 3 ล้านคน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันมีแนวโน้มลดลงมากช่วงปลายปี 63 มาอยู่ที่ระดับ 5 แสนคน หลังการฉีดวัคซีนเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก และมีการคลายล็อคดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้การดำเนินธุรกิจเริ่มกลับอีกครั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนความต้องการใช้น้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในยุโรปเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้บางประเทศในยุโรปกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ อาทิเช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และโปแลนด์
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 4 สัปดาห์ติดต่อกัน สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับขึ้น 3 ล้านบาร์เรล โดยปริมาณน้ำมันคงคลังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังหลายโรงกลั่นสหรัฐฯ หยุดดำเนินการผลิตจากอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติในช่วงกลางเดือน ก.พ. 64 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ล่าสุดโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการผลิตที่ระดับ 13.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าระดับปกติเพียง 10%
JP Morgan คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 11.36 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 64 เพิ่มขึ้นจาก 11.32 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 63 เนื่องจากราคาน้ามันดิบทรงตัวในระดับสูง สวนทางกับสานักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ที่คาดว่าปริมาณการผลิตน้ามันดิบสหรัฐฯ ในปี 64 จะลดลง 160,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 63 อยู่ที่ระดับ 11.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน
รายงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เดือนมี.ค.64 คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกในปี 64 อยู่ที่ระดับ 96.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปี 63 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นราว 50,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับรายงานเดือน ก.พ. 64 สอดคล้องกับรายงานกลุ่มโอเปกเดือน มี.ค. 64 ที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มช่วงครึ่งหลังของปี 64 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง จากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งกลุ่มโอเปกประเมินความต้องการใช้น้ำมันปี 64 จะอยู่ที่ระดับ 96.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) แถลงผลการประชุมนโยบายการเงินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ เฟดได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 64 และ 65 แตะระดับ 6.5% และ 3.3% ตามลำดับ
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยจีน ดัชนีผู้บริโภคสหราชอาณาจักรเดือน ก.พ. 64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการกลุ่มยูโรโซนเดือนมี.ค. 64
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 - 19 มี.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 4.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากราคาได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ได้รับได้อนุมัติและการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯที่คาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 64 ที่ระดับ 6.5% และการคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การระงับใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท Astrazeneca เป็นปัจจัยกดดันการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ