- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 25 January 2021 12:52
- Hits: 8336
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง ขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2564
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25-29 ม.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 28 ม.ค. รวมถึง สหรัฐฯ ที่คาดจะสามารถผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในเร็วนี้ นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากการเร่งดำเนินการส่งมอบและฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาจะได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศออกมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะประเทศจีนมีการประกาศเพิ่มความเข้มงวดของการเดินทางในประเทศช่วงเทศกาลตรุษจีนต้นเดือน ก.พ.
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ตลาดจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจะเริ่มบังคับใช้ได้ในเร็วนี้ ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งของนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยจะมีการเสนอมาตรการดังกล่าวต่อสภาคองเกรสให้มีการอนุมัติโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นในเร็วนี้
การส่งมอบและการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งคาดจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยล่าสุดมีประชากรกว่า 54.3 ล้านคนได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 แล้ว หลังบริษัทหลายบริษัทฯ อาทิเช่น Pfizer-BioNTech , Moderna และ Astrazeneca เป็นต้น ได้มีการเริ่มส่งมอบ ซึ่งหลายประเทศได้เริ่มทยอยฉีดให้กับประชาชนแล้ว ทั้งนี้ ตลาดจับตามองผลการทดสอบวัคซีนของบริษัท Johnson and Johnson ซึ่งอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการทดลองและคาดจะทราบผลการทดลองในเร็วนี้ โดยวัคซีนดังกล่าวใช้เพียง 1 โดสเท่านั้น แตกต่างจากวัคซีนของบริษัทอื่นที่ต้องใช้ถึง 2 โดสในการป้องกันไวรัสโควิด-19
ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยระดับรวมมากกว่า 97 ล้านราย ส่งผลให้หลายประเทศยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ให้มีความเข้มข้นและยาวนานขึ้น โดยเฉพาะล่าสุดในประเทศจีนที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน ทำให้มีการประกาศล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่บริเวณใกล้กับกรุงปักกิ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 20 ล้านคน และมีการประกาศเพิ่มความเข้มงวดของการเดินทางในประเทศช่วงเทศกาลตรุษจีนต้นเดือน ก.พ. ทั้งนี้ผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในสำหรับไตรมาส 1 ของปี 2564 และของปี 2564 ลงราว 600,000 และ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ส่งผลให้ในปีนี้ ความต้องการใช้น้ำมันคาดจะฟื้นตัวขึ้น 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้าที่ปรับลดลงถึง 8.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกพลัสมีแนวโน้มปรับลดลง หลังกลุ่มผู้ผลิตคงการตัดสินใจลดกำลังการผลิตที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. และ มี.ค. 64 รวมทั้งซาอุดิอาระเบียที่ปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. และ มี.ค. 64 เพื่อรักษาระดับของปริมาณน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับที่สมดุล โดยล่าสุดซาอุฯ มีแผนลดปริมาณการจัดสรรน้ำมันดิบให้แก่โรงกลั่นน้ำมันบางแห่งในทวีปเอเชียในเดือน ก.พ. 64 ซึ่งลดลงประมาณ 10% - 26%
จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หลังผู้ผลิตเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 15 ม.ค. 64 โดยปรับปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 13 แท่นจากสัปดาห์ก่อนหน้า ไปอยู่ที่ระดับ 373 แท่น อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบยังคงต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณการขุดเจาะปรับลดลงถึง 53% จากปีก่อนหน้า
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 4/63 ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 63 และการตัดสินใจประกาศดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-22 ม.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 55.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีการผ่านสภาคองเกรสในเร็วนี้ ภายหลังจากการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ นาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตโอเปกและพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.4 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึง ความกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังหลายประเทศเริ่มมีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ