- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Tuesday, 08 December 2020 18:40
- Hits: 3064
ราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าของวัคซีนต้านโควิด-19
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2563
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 – 11 ธ.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีแนวโน้มได้รับอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มยูโรโซนในเร็วๆ นี้ หลังก่อนหน้านี้อังกฤษเป็นชาติแรกที่มีการอนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัส นอกจากนี้ราคายังได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปัจจัยกดดันราคา หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสูงกว่าระดับต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ผู้ผลิตเริ่มเพิ่มการขุดเจาะขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นถึง 11 ครั้ง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดรัฐบาลอังกฤษอนุมัติให้ใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัท Pfizer-BioNTech เป็นชาติแรก ทั้งนี้สหรัฐฯ คาดจะมีการพิจารณาอนุมัติภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่ยุโรปคาดจะมีการพิจารณาอนุมัติภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งภายหลังจากการอนุมัติจะสามารถทำให้บริษัทผลิตวัคซีนสามารถเริ่มดำเนินการผลิตและขนส่งได้
กลุ่มโอเปกพลัสมีมติในการประชุมวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตโดยรวมขึ้นราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้กำลังการผลิตจะปรับลดลงราว 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. 64 ซึ่งลดลงจากเดิมที่ปรับลดกำลังการผลิตที่ประมาณ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้กลุ่มผู้ผลิตยังได้มีมติขยายระยะเวลาให้สมาชิกลดกำลังการผลิตเพื่อชดเชยกับการผลิตส่วนเกินที่ผ่านมาจากเดิมที่สิ้นสุดในปีนี้เป็นสิ้นสุดเดือน มี.ค. 64 โดยทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมทุกเดือนเพื่อทบทวนระดับการผลิตในเดือนต่อๆไป
การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ราว 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปแตะระดับสูงสุดที่ราว 1.30 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย หารือกับพันธมิตรในการพยายามเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบันลิเบียได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส จนกว่าการผลิตน้ำมันดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 27 พ.ย.ปรับลดลงเพียง 700,000 บาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.4 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวัน และความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับลดลง หลังโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดกำลังการผลิตลง 0.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบเพิ่มปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 4 ธ.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 3 แท่นสู่ระดับ 323 แท่น ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นกว่า 11 ครั้ง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ของยูโรโซนและญี่ปุ่น สำหรับไตรมาส 3 ของปี 2563 ซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น และยอดส่งออกและนำเข้าของจีน เดือน พ.ย. 63
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 พ.ย. – 4 ธ.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 49.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น จากความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึง วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 หลังรัฐบาลอังกฤษอนุมัติวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัท Pfizer-BioNTech ซึ่งจะส่งผลให้วัคซีนดังกล่าวสามารถเริ่มผลิตและส่งมอบได้ในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรที่มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพียง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค. 64 ส่งผลให้กำลังการผลิตจะปรับลดลงราว 7.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าแผนเดิมที่จะปรับลดลงเพียงแค่ 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ