- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Tuesday, 20 October 2020 09:26
- Hits: 10753
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังอุปสงค์ในจีน อินเดียสูงขึ้น ท่ามกลางอุปทานที่ปรับเพิ่มจากสหรัฐฯ และนอร์เวย์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 19 ตุลาคม 2563
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 39-44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19 - 23 ต.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังความต้องการใช้น้ำมันในเอเชียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในจีนและอินเดียที่มีการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการที่กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรปฏิบัติตามข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการกลับมาผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ หลังจากหยุดดำเนินการชั่วคราวจากผลกระทบของพายุเฮอริเคนเดลต้า นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันในนอร์เวย์มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังการหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในนอร์เวย์ได้ยุติลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน หลังจีนน้ำมันเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 63 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประกอบกับล่าสุดโรงกลั่น Rongsheng ของจีน ได้ออกมาซื้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางกว่า 10 ล้านบาร์เรล เพื่อให้ส่งถึงจีนในเดือน ธ.ค. 63 – ม.ค. 64 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันในเอเชียมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้
โรงกลั่นน้ำมันในอินเดียจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมตอบสนองต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดสำคัญได้แก่เทศกาลนวราตรี (Navratri) ในช่วงวันที่ 17 – 26 ต.ค. 63 และเทศกาลดีปาวลี (Diwali) ในวันที่ 14 พ.ย. 63
กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรปฏิบัติตามแผนข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตรวมกว่าร้อยละ 102 ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มโอเปกเองได้ปฏิบัติตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตที่ร้อยละ 105 ส่วนประเทศพันธมิตรนอกกลุ่มโอเปกยังคงปรับลดกำลังการผลิตที่ร้อยละ 97 ของข้อตกลง
อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากคนงานที่อพยพออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบจำนวน 281 แท่น บริเวณอ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ สามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง หลังต้องหยุดดำเนินการผลิตน้ำมันดิบชั่วคราวราว 1.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น ร้อยละ 92 ของกำลังการผลิตในอ่าวเม็กซิโก จากผลกระทบของพายุเฮอริเคนเดลต้าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาตินอร์เวย์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การหยุดงานประท้วงของสหภาพลูกจ้าง Equinor สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง เนื่องจากบริษัทสามารถหาข้อตกลงเรื่องค่าแรงร่วมกันกับสหภาพได้ หลังหยุดดำเนินการผลิตนาน 10 วัน ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ 6 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 25 ของกำลังการผลิตของนอร์เวย์
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คงคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกปีนี้ในรายงานเดือน ต.ค. 63 ใกล้เคียงตัวเลขในรายงานเดือนก่อนหน้า โดยคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกจะอยู่ที่ระดับ 91.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับลดลง 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
รายงานของโอเปกประจำเดือน ต.ค. 63 ระบุว่าการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันจะชะลอตัวในปีหน้า โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันในปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 6.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 96.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลง 80,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ในรายงานเดือน ก.ย. 63 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีจีนไตรมาส 3/63 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า ยอดขายปลีกจีนเดือน ก.ย. 63 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว การประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีน และการโต้วาทีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 - 16 ต.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 42.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุน หลังประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก รายงานตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 63 ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5.5 หรือ 11.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากอุปทานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น หลังการประท้วงหยุดดำเนินการแท่นผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาตินอร์เวย์ยุติลง เนื่องจากบริษัทสามารถหาข้อตกลงเรื่องค่าแรงร่วมกันกับสหภาพได้ ส่งผลให้กำลังการผลิตที่ลดลงไปร้อยละ 25 ของกำลังการผลิตของนอร์เวย์ สามารถกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบได้ตามปกติ หลังจากหยุดดำเนินการไป 10 วัน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ