- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 05 October 2020 16:43
- Hits: 11305
วิตกโควิด-19 ฉุดความต้องการใช้น้ำมันและสร้างแรงกดดันราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2563
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 35-40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 37-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 5 - 9 ต.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดัน จากการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันดิบและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและความกังวลว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการเลือกตั้งอาจจะต้องเลื่อนออกไป หลังนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากลิเบียและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจาก ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันจากโรงกลั่นที่คาดว่าจะกลับมาดำเนินการผลิตเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่มีการปิดดำเนินการไปในช่วงที่ผ่านมาจากพายุเฮอริเคนแซลลี่และเบต้า
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงของการที่ภาครัฐบาลอาจจะต้องกลับมาดำเนินมาตรการปิดเมืองอีกครั้ง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 33.5 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 ล้านรายแล้ว นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันและเศรษฐกิจโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้มีแนวโน้มที่การเจรจาเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการเลือกตั้งของสหรัฐฯ อาจจะต้องมีการเลื่อนออกไป
อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากลิเบีย หลังล่าสุด บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียกลับมาเปิดดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบและท่าส่งออกน้ำมันได้แล้ว ภายหลังจากบรรลุข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ขัดแย้ง โดยล่าสุด ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ระดับ 0.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาแตะระดับ 0.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเร็วๆ นี้และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 0.50 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้
ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากคาดว่าโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะกลับมาดำเนินการผลิตสูงขึ้น หลังจากที่มีการปิดดำเนินการไปในช่วงที่ผ่านมาจากพายุเฮอริเคนแซลลี่และเบต้า โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ก.ย. 63 ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันที่ราว 2.0 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบปรับลดลง
จับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจัน ซึ่งนับเป็นการสู้รบที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดการปะทะของทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อท่อขนส่งน้ำมัน Baku-Tbilisi-Ceyhan ซึ่งวิ่งผ่านจากประเทศจอร์เจียและไปยังชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของตุรกีและมีกำลังการขนส่งที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการ (PMI) สหรัฐฯ เดือน ก.ย. 63 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า และรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC)
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ก.ย. – 2 ต.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 38.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ติดเชื้อโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรและในยุโรป ส่งผลให้ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของไวรัสรวมทั้งสิ้นสูงกว่า 1 ล้านคนและทำให้หลายประเทศเริ่มพิจารณาที่จะดำเนินมาตรการปิดเมืองอีกครั้ง นอกจากนี้ การส่งออกน้ำมันดิบจากลิเบียปรับเพิ่มขึ้น หลังล่าสุดได้มีการเปิดท่าเรือส่งออกแล้ว อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ก.ย. 63 ที่ปรับตัวลดลง 2.0 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ