- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Tuesday, 17 September 2019 00:13
- Hits: 5385
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่ม หลังโรงงานน้ำมันซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีทำให้ปริมาณน้ำมันปรับลดลง
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 16 กันยายน 2562
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 57 – 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63 - 68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (16 – 20 ก.ย. 62)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากแรงหนุนของสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังโรงงานแปรรูปน้ำมันขนาดใหญ่ในซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีด้วยโดรน ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันในซาอุดิอาระเบียถึง 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนไปอีก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีนเตรียมจัดประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อยุติข้อพิพาททางการค้าในต้นเดือน ต.ค. 62 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดจะยังคงถูกกดดันจากการขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังกลุ่มก่อการร้ายฮูติใช้โดรนโจมตีโรงงานแปรรูปน้ำมันสองแห่งในซาอุดิอาระเบียในวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยโรงงานแปรรูปน้ำมันที่ถูกโจมตีประกอบด้วย Abqaiq ซึ่งสามารถรับน้ำมันได้ราว 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Khurais ซึ่งสามารถรับน้ำมันได้ราว 1.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ซาอุดิอาระเบียต้องหยุดการผลิตน้ำมันไปราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือร้อยละ 5 ของปริมาณน้ำมันโลก โดยกำลังการผลิตที่ลดลงจะส่งผลกดดันต่อปริมาณน้ำมันส่งออกจากซาอุดิอาระเบีย แม้ว่าสหรัฐฯ จะกล่าวหาว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีในครั้งตีในครั้งนี้ แต่อิหร่านออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว
ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่าประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกรอบในการประชุมนโยบายการเงินในช่วงวันที่ 17-18 ก.ย. 62 หลังจากที่ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 62 ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยประธานเฟดได้ออกมากล่าวว่าจะยังคงดำเนินนโยบายที่เหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อไป
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีทิศทางผ่อนคลายขึ้น หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาประกาศที่จะเลื่อนการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จากระดับร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 30 ออกไปจากวันที่ 1 ต.ค. 62 เป็นวันที่ 15 ต.ค. 62 ซึ่งการประกาศนี้เกิดขึ้นภายหลังที่รัฐบาลจีนประกาศจะยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ 16 ประเภท เป็นเวลา 1 ปี เริ่มวันที่ 17 ก.ย. 62 นอกจากนี้ สหรัฐฯ และจีนเตรียมจัดประชุมร่วมกันเพื่อยุติข้อพิพาททางการค้า โดยการประชุมจะจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันในช่วงต้นเดือน ต.ค. 62
ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ย. 62 ปรับลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ ต.ค. 61 ไปอยู่ที่ระดับ 416.1 ล้านบาร์เรล โดยปรับลดลง 6.9 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเกิดจากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการนำเข้าน้ำมันดิบปรับลดลง
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันหลังกลุ่มโอเปก (OPEC) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกในปี 63 ลง 60,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงซบเซา โดยคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบในปีหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกันโอเปกปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 63 ลงจากระดับร้อยละ 3.2 ไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.1 จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การแถลงนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน และตัวเลขการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 – 13 ก.ย. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในยุโรปที่อ่อนแอ หลังธนาคารกลางยุโรปกลับมาดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอีกครั้ง โดยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี ที่ร้อยละ 0.1 ไปสู่ระดับร้อยละ -0.5 หลังเศรษฐกิจยุโรปประสบปัญหาการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับ ตลาดยังคงกังวลว่าอิหร่านจะสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้อีกครั้ง
หลังประธานาธิบดีทรัมป์ได้สั่งปลดนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ผู้มีท่าทีแข็งกร้าวต่ออิหร่าน ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าทรัมป์จะมีท่าทีแข็งกร้าวต่ออิหร่านลดลง อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ของซาอุดิอาระเบียออกมายืนยันว่ากลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในระยะยาวต่อไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน ประกอบกับ EIA รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบปี ไปอยู่ที่ 416.1 ล้านบาร์เรล โดยปรับลดลง 6.9 ล้านบาร์เรลเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือน ส.ค. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากการฟื้นตัวของส่วนต่างราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ (refining margins) ท่ามกลางการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ
Click Donate Support Web