- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Monday, 02 September 2019 19:37
- Hits: 3844
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน หลังตลาดกังวลสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน ที่ยังคงระอุ
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2562
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53 – 58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 58 - 63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2 – 6 ก.ย. 62)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ซบเซา หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น และอาจทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะเศษฐกิจถดถอย รวมทั้ง ความกังวลเกี่ยวกับการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไร้ข้อตกลงในวันที่ 31 ต.ค. นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันที่จะปรับตัวลดลง นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังข้อมูลล่าสุดไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังของตลาดว่าเฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือน ก.ย. นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจีนได้ประกาศจะเพิ่มการขึ้นภาษีราวร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 ในสินค้า 5,078 รายการที่นำเข้าจากสหรัฐฯ โดยผลบังคับใช้ถูกแบ่งป็นสองรอบคือ 1 ก.ย. 62 และ 15 ธ.ค. 62 ขณะที่สหรัฐฯ ตอบโต้กลับโดยการประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีกระลอกมูลค่ารวม 550,000 ล้านเหรียญฯ ในวันที่ 1 ต.ค. 62 อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และจีนเตรียมจัดการเจรจาการค้าอีกรอบในช่วงเดือน ก.ย. นี้ ก่อนที่จะถึงกำหนดการขึ้นกำแพงภาษีระลอกใหม่ โดยโฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า จีนจะสกัดกั้นไม่ให้สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ตลาดกังวลต่อความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ เนื่องจากตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ยังคงเกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี อยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ตลาดจับตาเกี่ยวกับการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไร้ข้อตกลงในวันที่ 31 ต.ค. นี้ หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ใช้แผนจำกัดการประชุมสภาเพื่อหวังเดินหน้าผลักดันให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไม่มีการทำข้อตกลง โดยจะทำให้มีการปิดรัฐสภาอังกฤษตั้งแต่กลางเดือน ก.ย. เป็นเวลาราว 1 เดือน ซึ่งจะทำให้รัฐสภามีเวลาน้อยลงในการออกกฎหมายเพื่อสกัดความพยายามของนายจอห์นสันในการนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 31 ต.ค. โดยไร้ข้อตกลง
ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากนัก หากแต่พร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการเงินอย่างเหมาะสม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่านโยบายทางการเงินอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ อย่างไรก็ดี ร้อยละ 93.5 ของตลาดยังคงคาดว่าเฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือน ก.ย. นี้
กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังตัวเลขประจำสัปดาห์ที่ 23 ส.ค. 62 อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการของท่อขนส่งน้ำมันดิบใหม่ในแหล่ง Permian คาดว่าจะส่งผลให้สหรัฐฯ สามารถส่งน้ำมันดิบได้มากขี้น
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตจีนเดือน ส.ค. 62 ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 62 ดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 62 และจีดีพียูโรโซนไตรมาส 2/2562
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 – 30 ส.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้น 0.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่ม 1.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 59.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคายังถูกกดดันเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ร้อนแรง หลังจีนเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ สหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกระลอกมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญฯ จากเดิมที่ร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 30 ในวันที่ 1 ต.ค. 62 ซึ่งส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงและอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
นอกจากนี้ ตลาดกังวลเกี่ยวกับการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศถึงการเตรียมจัดประชุมระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ เพื่อหารือเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐฯ ผ่อนปรนนโยบายการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ส.ค. 62 ปรับลดลงมากถึง 10.0 ล้านบาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 427.8 ล้านบาร์เรล
Click Donate Support Web