- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Tuesday, 27 August 2019 21:03
- Hits: 5242
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน หลังสงครามการค้าปะทุขึ้น
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม 2562
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 52 – 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 57 - 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 – 30 ส.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ตามภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบโลกจากกลุ่มผู้ผลิตหลักที่จะปรับตัวลดลง โดยผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะคงการผลิตอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่เวเนซุเอลาและอิหร่านคาดจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้น้อยลง นอกจากนี้ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น หลังสหรัฐฯ พยายามยึดเรือสัญชาติอิหร่าน ในขณะที่อิหร่านตอบโต้โดยการขู่ถึงความไม่ปลอดภัยในการขนส่งน้ำมันผ่านเส้นทางในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน จากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ซบเซาและอาจเข้าสู่ภาวะเศษฐกิจถดถอย อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงขึ้น ล่าสุดจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่ารวม 7.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วย น้ำมันดิบ สินค้าทางการเกษตรและยานยนต์ โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในครั้งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 รอบ คือบางส่วนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. 62 ในขณะที่ส่วนที่เหลือจะมีผลในวันที่ 15 ธ.ค. 62 ทางด้านสหรัฐฯ ตอบโต้โดยการออกคำสั่งให้บริษัทสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังทำการตอบโต้จีนด้วยการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าราว 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 30 มีผลในวันที่ 1 ต.ค. 62 และเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าราว 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยร้อยละ 15 มีผลในวันที่ 1 ก.ย. 62
การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลง โดยโอเปกปรับลดคาดการณ์การเติบโตความต้องการใช้น้ำมันของปี 2562 ลงราว 40,000 บาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากความร่วมมือของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง ประกอบกับประเทศต่างๆ นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านและเวเนซุเอลาในปริมาณที่ลดลง โดยกลุ่มโอเปก 11 ประเทศยังคงร่วมมือกันในการปรับลดกำลังการผลิตในเดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 29.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากกำลังการผลิตในเดือน ต.ค. 61 ราว 1.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นการปรับลดถึงร้อยละ 156 ของระดับที่ตกลงไว้ นอกจากนี้ไต้หวันหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะที่ผู้ผลิตบางส่วนในจีนหยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาแล้วเช่นกัน
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านคาดรุนแรงขึ้น หลังสหรัฐฯ พยายามออกหมายจับเรือบรรทุกน้ำมันเอเดรียน ดาร์ยา วันของอิหร่าน ซึ่งเคยถูกอังกฤษกักไว้จากข้อกล่าวหาว่าเรือลำดังกล่าวละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป โดยสหรัฐฯ อ้างว่าเรือสัญชาติอิหร่านนี้เกี่ยวโยงกับองค์กรก่อการร้ายไออาร์จีซีในการส่งน้ำมันไปซีเรีย ทางด้านอิหร่านออกมาเตือนถึงความปลอดภัยในการส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซ
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับลดลง หลังโรงกลั่นมีแนวโน้มที่จะดำเนินการผลิตในระดับสูงก่อนเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี โดยกำลังการกลั่นล่าสุดอยู่ที่ระดับร้อยละ 96 ประกอบกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการของท่อขนส่งน้ำมันดิบใหม่ในอ่าว Permian จะส่งผลให้สหรัฐฯ สามารถส่งน้ำมันดิบออกจากประเทศได้มากขี้น
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/2562 สหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน และดัชนีภาคการบริการจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 – 23 ส.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลด 0.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่ม 0.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งสัญญาณดีต่อตลาด หลังสหรัฐฯ ยืดระยะเวลาให้บริษัทหัวเหว่ยสามารถซื้อเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้ ออกไปอีก 90 วัน จากกำหนดการเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 19 ส.ค. 62 ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลด 2.73 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 437.8 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน หลังนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัว ซึ่งจะส่งผลลบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก
Click Donate Support Web