- Details
- Category: ขายตรง
- Published: Thursday, 21 August 2014 22:00
- Hits: 3205
จ่อชง คสช.ตั้งศูนย์ผู้บริโภค
บ้านเมือง : สคบ.เดินหน้าผลักดัน ‘ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ’ สางปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน ดึง’อย.-สมอ.-ปคบ.’พร้อมชงอนุมัติพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ หวังเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น เร่งตรวจสอบบริษัทขายตรงที่ทำธุรกิจจริงๆ ป้องกันช่องว่างธุรกิจแอบแฝง
นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ผ่านมา พบว่าการดำเนินงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค กระจัดกระจายขึ้นอยู่กับหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง ดังนั้นจึงเห็นว่าควรจะนำมารวมกันอยู่ในหน่วยงานเดียว เพื่อความสะดวกในการทำงาน ทำให้การช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนตามแผนแม่บทของสคบ.
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวได้หารือกันกับทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ ผู้ดูแลหน่วยงาน ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วในเบื้องต้น โดยเห็นว่าหน่วยงานที่ควรจะมารวมกันในเบื้องต้น ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ปัจจุบันขึ้นตรงต่อกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. ที่ปัจจุบันขึ้นตรงกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เนื่องจากทำงานของทั้ง 3 หน่วยงานคล้ายคลึงกันในแง่ของการทำงานกับผู้บริโภค
ด้าน ร.ต.ไพโรจน์ คนึงทรัพย์ ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ทาง สคบ.กำลังจะส่งเรื่องให้ทาง คสช.อนุมัติพิจารณาแต่งตั้ง "คณะกรรมการขับเคลื่อนศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดกรอบนโยบายแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของชาติ และยังส่งผลดีต่อธุรกิจทุกภาคส่วนโดยเฉพาะธุรกิจขายตรงที่ เวลานี้มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก เพราะสร้างมูลค่าการตลาดให้กับประเทศชาติเป็นอย่างมาก คาดว่าศูนย์ ดังกล่าวนี้จะจัดตั้งเสร็จเรียบร้อย พร้อมทำงานภายในปี 2557 นี้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ หากมีศูนย์ดังกล่าวขึ้นมา คงทำให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงการร้องเรียนได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันการร้องเรียนส่วนใหญ่มักอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนการร้องเรียนเพียง 8,000-10,000 เรื่อง แต่ถ้าศูนย์ฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าใจ เข้าถึงและพึ่ง สคบ.ได้ คงทำให้ยอดการร้องเรียนเพิ่มขึ้นถึงปีละ 100,000 เรื่องขึ้นไป อีกทั้งตามโครงสร้างของศูนย์ดังกล่าวยังมีกองทุนเยียวยาผู้บริโภคที่มีหน้าที่ในการจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ผู้บริโภคในช่วงที่คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้องด้วย นอกจากนี้ยังเดินหน้าผลักดันจัดตั้งสำนักคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดขึ้น เพื่อดูแลประชาชนในแต่ละภูมิภาคอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว แต่ยอมรับว่าอาจจะติดขัดปัญหางบประมาณจากส่วนกลางที่จัดสรรให้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อรัฐบาลชุดใหม่ สคบ.จึงมีแนวคิดที่จะขอความร่วมมือการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชน เช่น มูลนิธิดำรงชัยธรรม และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด เพื่อให้เข้ามาทำงานร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ สคบ.ที่ถูกส่งไปปฏิบัติงานในแต่ละจังหวัดๆ ละ ประมาณ 3-5 คน ถือเป็นการบูรณาการตามแนวนโยบายของภาครัฐ
สำหรับ ปัญหาร้องเรียนที่ทางประชาชนร้องเรียนเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือมากที่สุด ก็คือปัญหาเกี่ยวกับด้านที่อยู่อาศัยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยที่พบมากที่สุดคือ การก่อสร้างที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ ที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน อาคารร้าว บ้านทรุด เนื่องจากการตอกเสาเข็มและการก่อสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน ส่วนคอนโดมิเนียมจะเป็นเรื่องของการโอนเงิน การถูกยึดเงินจอง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านในระดับล่าง ราคาประมาณ 1-2 ล้านบาท ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิต นอกจากนี้ สคบ.ยังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อแก้ไขปัญหา SMS ขยะที่ถูกส่งเข้ามาในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นปัญหาร้องเรียนรองลงมาจากบ้านที่อยู่อาศัย เช่น เกม ดูดวง ใบ้หวย เป็นต้น ซึ่งเมื่อประชาชนเปิดเข้าไปดู ก็เสียค่าบริการครั้งละ 3-6 บาทต่อหนึ่งข้อความ
ร.ต.ไพโรจน์ กล่าวว่า สคบ.ได้ประสานไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลบริษัทจดทะเบียนประเภทขายตรงและตลาดแบบตรง ซึ่งเดิมมีการขอจดทะเบียนธุรกิจประมาณ 800 บริษัทว่าปัจจุบันบริษัททั้งหมดยังดำเนินธุรกิจอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลครั้งล่าสุดของ สคบ.พบว่า บริษัทที่ประกอบธุรกิจจริงมีอยู่เพียง 353 รายเท่านั้น จึงเกรงว่าบริษัทที่เหลืออาจใช้ช่องว่างการเป็นบริษัทขายตรงที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมายให้แก่ประชาชนได้