- Details
- Category: ขายตรง
- Published: Thursday, 07 August 2014 22:55
- Hits: 3572
นายก TDSA คนใหม่ฟิตจัด ลุย 3 นโยบายยกระดับขายตรงไทย
บ้านเมือง : สุภพงษ์ เทียนสี/รายงาน
'ภคพรรณ'บอสใหญ่นูสกิน รั้งเก้าอี้นายกสมาคมการขายตรงคนใหม่ เผย 3 นโยบายหลักเดินหน้ายกระดับขายตรงไทยสู่สากล เตรียมลุ้นเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ขายตรงโลกในปี 2017 เร่งสร้างความรู้กระจายสู่ทุกส่วน ผสานภาครัฐดัน แก้กฎหมายขายตรงเป็นนโยบายเร่งด่วน
นางภคพรรณ ลีวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นู สกิน เอ็นเตอร์ไพร์ส ประเทศไทย และเวียดนาม ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจขายตรงไทย (TDSA) เปิดเผยว่า ภายหลังการรับตำแหน่งนายกสมาคมการขายตรงคนใหม่ได้ดำเนินการตามนโยบายหลัก 3 ข้อ ได้แก่ 1.การยกระดับสมาคมการขายตรงไทยสู่สากล เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพและภาพลักษณ์ของสมาคมการขายตรงไทยให้มีความน่าเชื่อถือ ทันสมัย และมีความเป็นสากลเทียบเท่านานาชาติ พร้อมก้าวสู่เวทีระดับโลก และเป็นศูนย์กลางของธุรกิจขายตรงในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะเป็นจังหวะที่ดีในการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับธุรกิจขายตรงอย่างมาก เนื่องจากเป็นตลาดที่ขยายตัวสูงขึ้น
"สมาคมเตรียมสานต่อแผนการจัดตั้งสมาพันธ์ขายตรงอาเซียน (ASEAN DSAs) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมขายตรงในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น และอีกหนึ่งความตั้งใจของเรา คือ การเตรียมความพร้อมของสมาคมการขายตรงไทยเพื่อเสนอชื่อให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุม World Congress ของสมาพันธ์การขายตรงโลก (World Federation Direct Selling Associations: WFDSA) ครั้งที่ 15 ในปี 2017 ซึ่งกำลังจะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกเจ้าภาพในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ที่ประเทศบราซิล ซึ่งหากประเทศไทยได้เป็นตัวแทนในครั้งนี้ก็จะถือเป็นความภาคภูมิใจของสมาคม และเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการยกระดับขายตรงไทยสู่สากล"
ประเด็นที่สองคือ การสร้างความภาคภูมิใจในธุรกิจขายตรงต่อสมาชิกและผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างให้อุตสาหกรรมนี้มีความแข็งแกร่งจากความร่วมมือของกลุ่มผู้ร่วมธุรกิจ ซึ่งการก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ของสมาคมการขายตรงไทย เป็นเครื่องยืนยันสำคัญที่ตอกย้ำเกียรติภูมิของธุรกิจขายตรงไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยได้สร้างโอกาสให้กับผู้คนจำนวนมากมาย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสร้างชีวิตใหม่ให้กับคนไทยนับล้านๆ คน ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้จริง สิ่งเหล่านี้จึงถือเป็นอีกบทบาทภาระหน้าที่ของสมาคมซึ่งจะดำรงไว้ด้วยภาพลักษณ์และความภาคภูมิใจ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสมาชิกภายในสมาคม ตลอดจน ผู้จำหน่ายอิสระ และผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจขายตรง และยึดมั่นในการรักษามาตรฐานของการขายตรง
และ 3.การเผยแพร่องค์ความรู้และจรรยาบรรณของธุรกิจขายตรงอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สมาคมจึงให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ด้านธุรกิจขายตรงกับบุคคลภายนอก นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจขายตรงอย่างถูกต้อง สามารถมองเห็นโอกาส และเปิดรับในธุรกิจนี้มากยิ่งขึ้น
นางภคพรรณ กล่าวว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับอุตสาหกรรมขายตรงซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงต่อเนื่อง คาดใน 1-2 ปีข้างหน้ามูลค่าขยับขึ้นไปถึง 1 แสนล้านบาท จาก 7 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน ทั้งนี้ ระหว่างปี 2551-2555 ธุรกิจเติบโตเฉลี่ย 11.39% เนื่องจากการเข้ามาของบริษัทขายตรงรายใหม่ๆ เป็นธุรกิจขายตรงหลายชั้น (MLM) มีสัดส่วน 82.7% ขายตรงชั้นเดียว (SLM) 18.9% และ รูปแบบอื่นๆ อีก 2.5%
"จากศักยภาพและโอกาสดังกล่าว เมื่อเปิดเออีซีจะมีบริษัทขายตรงต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ที่ผ่านมามีบริษัทจากในประเทศอาเซียนเข้ามาสำรวจตลาดบ้าง และจากการสำรวจพบว่าตลาดที่น่าสนใจมากสุด คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ตามลำดับ แต่ถ้ามองศักยภาพของแต่ละประเทศแล้ว ไทยมีศักยภาพสูงสุด โดยตัวเลขของสมาพันธ์ขายตรงโลก ตลาดอาเซียนเติบโต 10% ยังไม่นับประเทศอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มก่อตั้ง เทียบกับขายตรงโลกที่มีการขยายตัว 5%"
สำหรับ สถานการณ์ธุรกิจขายตรงได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง กำลังซื้อ และภาวะเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา โดยปกติธุรกิจขายตรงจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 5-7% แต่สำหรับปีนี้ยังไม่สามารถประเมินข้อมูลได้ชัดเจนว่าจะเติบโตเท่าไร จากมูลค่าตลาดรวมที่มีกว่า 7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามปัจจุบันเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความมั่นใจของผู้บริโภคและภาวะการเมืองที่มีความชัดเจน และเชื่อว่าในปีหน้าจะเป็นปีที่ธุรกิจขายตรงเติบโตอย่างชัดเจนและเติบโตมากกว่าช่วง 2 ปีนี้ด้วย
นายกสมาคมคนใหม่ ยังกล่าวต่อว่า ขณะที่ภาพลักษณ์ของธุรกิจขายตรงต่อสังคมไทยปัจจุบัน มีการปรับตัวดีกว่าช่วง 4-5 ปีที่ก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาเรื่องแชร์ลูกโซ่ และธุรกิจที่เข้ามาหลอกลวงต่างๆ เห็นได้จากจำนวนสมาชิกและนักธุรกิจขายตรงเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 11 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนทุกๆ 6 คนของประชากรไทยจะมี 1 คนที่เป็นสมาชิกหรือทำธุรกิจขายตรง ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซียที่ดำเนินธุรกิจขายตรงมานานกว่า 40 ปี ส่วนประเทศเวียดนาม ประชากรทุก 79 คนจะมี 1 คนที่เป็นสมาชิกขายตรงหรือทำธุรกิจขายตรง เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่ธุรกิจขายตรงเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น และยังพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตเฉลี่ยของธุรกิจขายตรงอาเซียนมีมากถึง 13.7% ด้วย
"ภาพของธุรกิจขายตรงปรับตัวดีมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง แสดงว่ายังเป็นตลาดที่มีโอกาส ประชาชนและสังคมทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และธุรกิจขายตรงยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่องด้วย และสมาคมเองก็ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอดด้วยเช่นกัน"นายกสมาคม กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับ คณะกรรมการสมาคมฯ ชุดใหม่ ประกอบด้วย มร.เต้ เพีย เซง บริษัท เพอร์เฟค รีซอร์สเซส (ประเทศไทย) จำกัดเป็นอุปนายกฝ่ายกิจกรรม, พ.ญ.นลินี ไพบูลย์ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด อุปนายกด้านรัฐสัมพันธ์, นายรัฐโรจน์ กุลศิริประภานนท์ บริษัท อาราก้อนเวิลด์ จำกัด ตำแหน่ง เลขาธิการ, ภก.ประเสริฐ หวานยิ่ง บริษัท วิน วินเวิลด์ไวด์ จำกัด ดำรงตำแหน่ง เหรัญญิก, นายกิจธวัช ฤทธีราวี บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำรงตำแหน่ง กรรมการฝ่ายการสื่อสาร, นายสุเทพ ยืนยงค์วิทยากุล บริษัท นิวไลฟ์ เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำรงตำแหน่ง กรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์, นางสุชาดา ธีรวชิรกุล บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด และ มร.คริสโตเฟอร์ เฮยนสึ คิม บริษัท ยูนิซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ดำรงตำแหน่ง กรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ