- Details
- Category: ขายตรง
- Published: Sunday, 22 November 2015 15:22
- Hits: 8643
สคบ.ผุดศูนย์ร้องเรียนผู้บริโภค จับตาขายตรงกลายพันธุ์แชร์ลูกโซ่
บ้านเมือง ; ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ธุรกิจขายตรงเริ่มขยายวงกว้าง แผ่กระแสความนิยม กระจายเข้าถึงผู้คนเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการแห่ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่มีความประสงค์จะเข้าไปประกาศศักดา สร้างความยิ่งใหญ่ในธุรกิจ
จากข้อมูลของทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เบื้องต้นพบว่า บริษัทขายตรงที่ขึ้นทะเบียนกับทาง สคบ. ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1,100 บริษัท ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียน บริษัทขายตรงกว่า 60 บริษัท และได้รับการอนุมัติแล้ว 40 กว่าราย
ทั้งนี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมขายตรงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผล สืบเนื่องมาจากบริษัทน้องใหม่ทยอยเปิดตัวให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง และที่สร้างสีสันให้กับวงการได้ไม่น้อยนั่นคือ การประกาศตัวตบเท้าก้าวเข้าสู่ธุรกิจ อย่างเต็มตัวของเหล่าบรรดาศิลปิน-ดารานักร้อง ที่ขนเม็ดเงินมาลงทุน เปิดตัว เป็นเจ้าของกิจการอย่างคึกคัก เพื่อหวังสร้างความสำเร็จในธุรกิจ
ท่ามกลางสีสันของเหล่าบรรดาศิลปิน-ดารานักร้อง ที่แห่เข้ามาเปิดตัวธุรกิจเพื่อหวังชิงความสำเร็จในธุรกิจอีกด้านหนึ่ง บรรดาบริษัทขายตรง หลายแห่งที่ดำเนินธุรกิจมาก่อนหน้าก็เริ่มออกอาการที่จะไปต่อไม่ไหว ทยอยปิดตัวลงไปหลายแห่ง เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหา "แชร์ลูกโซ่" ที่หวนกลับมาระบาด สร้างความปั่นป่วนอีกครั้ง หลายบริษัท สมาชิกถูกหลอกให้ไปร่วมลงทุน ด้วยผลประโยชน์ที่ล่อตาล่อใจ บางบริษัทถูกดึงไปทั้งองค์กร แทบจะไม่มีสมาชิกหลงเหลือให้ขับเคลื่อนธุรกิจเดินไปข้างหน้า จึงต้องจำยอมรับสภาพ ประกาศปิดกิจการลงไปอย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ ผลพวงมหันตภัยจากแชร์ลูกโซ่ สร้างความเสียหายเป็นโดมิโนให้กับประชาชนมาหลายยุคหลายสมัย โดยประเด็นเรื่องราวของปัญหา ดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาโดยตรงนั่นก็คือ สคบ. ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ดูแลอุตสาหกรรมขายตรงทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมา ขบวนการแชร์ลูกโซ่มักอาศัยช่องโหว่ของธุรกิจขายตรง เข้าไปหลอกลวงประชาชน เพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากผู้คนที่เข้าร่วมธุรกิจ แล้วปิดกิจการหนีไป
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ สคบ. จะพยายามแก้ไขปัญหา เพื่อคุ้มครองดูแลผู้บริโภค และผู้ประกอบการให้ได้รับความเป็นธรรม แต่ปัญหาดังกล่าวก็ไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป เนื่องจากแนวทางส่วนใหญ่มักถูกแก้ไข ที่ปลายเหตุเป็นส่วนใหญ่ อาทิ เกิดความเสียหายจากผู้ร้องทุกข์ขึ้น สคบ. จึงสามารถใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าจัดการได้ ยิ่งที่ผ่านมาบางกรณีแม้รู้ว่า มีการกระทำความผิด แต่ไม่มีผู้ร้องทุกข์ สคบ. ก็ทำอะไรไม่ได้ จนปล่อยให้ความเสียหายกระจายเป็นวงกว้าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ผลพวงจากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้ นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการ สำนักงาน สคบ. ต้องเฟ้นหาแนวทางออกมาสร้างเกราะป้องกันผู้บริโภค เพื่อลดความเสียหายหรือขจัดภัยร้ายนี้ให้สิ้นซาก พร้อมยกระดับอุตสาหกรรม ขายตรงก้าวสู่มาตรฐานสากลไปในตัว โดยเบื้องต้นได้มีการวางกรอบแผนปฏิบัติงาน เพื่อยกระดับหน่วยงานครั้งสำคัญ ภายใต้แนวทางการสร้าง สคบ. ยุคใหม่ ที่มุ่งใกล้ชิดผู้บริโภคเป็นหลัก
นายอำพล เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาของผู้บริโภคมีมากมาย รวมถึง ปัญหาแชร์ลูกโซ่ที่แอบอ้างการทำธุรกิจขายตรงเพื่อหวังผลประโยชน์กับประชาชนซึ่งกำลังระบาดหนัก โดยเฉพาะแชร์ลูกโซ่ที่มาในรูปลักษณะของการทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ที่พบว่าช่วงที่ผ่านมามีการระบาดอย่างหนัก ซึ่งเบื้องต้นจากการติดตามของ สคบ.พบว่ามี 3 บริษัทที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า เข้าข่ายดำเนินธุรกิจนอกระบบหรือไม่
ที่ผ่านมาหลังจากลงพื้นที่ไปตามต่างจังหวัดได้รับข้อมูลว่า มีบางบริษัทให้ผู้ขายอิสระชักชวนคนมาร่วมลงทุนในลักษณะที่ว่า ลงทุน 2.5 หมื่นบาท อีก 5 เดือนข้างหน้าจะได้รับเงิน 5 แสนบาท โดยไม่มีสินค้าจำหน่าย ขณะนี้ สคบ.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบ เบื้องต้นน่าจะมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีส่วนให้แชร์ลูกโซ่ระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ประชาชนมีรายได้ลดลง จึงเป็น ช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวงให้เข้าร่วมลงทุน โดยเสนอ ผลตอบแทนที่สูงเพื่อจูงใจ และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปทำให้มีผู้ให้ ความสนใจหันมาประกอบธุรกิจขายตรงเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็พบ ปัญหาต่างๆ ที่ตามมามากมาย อาทิ การนำสินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาตมาแอบแฝงขาย ปัญหาการหาสมาชิกโดยการอธิบายแผนการจ่ายผลตอบแทนที่ บิดเบือนไปจากแผนที่ได้รับอนุญาต ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคและธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ทาง สคบ.ได้ประสานความร่วมมือไปยังสมาคมขายตรงทั้ง 5 สมาคมขายตรง ประกอบด้วยสมาคมการขายตรงไทย (TDSA), สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (TDIA), สมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (TSDA) สมาคมธุรกิจเครือข่ายขายตรงไทย (TDNA) และสมาคมนักการตลาดแบบตรงไทย (TDMA) เพื่อขอดูแลและบอกกล่าวบริษัทที่เป็นสมาชิกให้ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายและตรงตามที่ได้เสนอ พร้อมมีมาตรการทุก 6 เดือนต้องมีรายงานเข้ามา เพื่อให้รู้ว่ามีบริษัทใดบ้างที่มีความเคลื่อนไหวเชิงธุรกิจและบริษัทใดที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจแล้ว
ขณะเดียวกัน สคบ.ยังได้ปรับยุทธศาสตร์การทำงานใหม่ โดยเน้นการทำงานเชิงรุกมากกว่าการตั้งรับ โดยมีการปรับปรุงวิธีการทำงานเป็นเชิงรุก หรือเน้นป้องปรามก่อนที่จะเกิดปัญหาจากการทำงานรูปแบบเดิมที่ตามไปช่วยไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหา เมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้ามา
"เราได้ทำการพัฒนาหลายๆ ด้าน เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานให้กับ สคบ. โดยเฉพาะการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้การร้องเรียน ได้รวดเร็ว โดยได้ทดลองให้บริการไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และอีกด้านหนึ่ง ก็จับมือสำนักงานยุติธรรมและศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัด จัดอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และไกล่เกลี่ยข้อพิพาท"
นายอำพล เปิดเผยต่อว่า นับจากนี้ จะมีการเข้มงวดกับการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ในองค์กร เนื่องจากบทบาทหน้าที่หลักของ สคบ.คือ งานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ล้วนเป็นหน้าที่ของหน่วยงานแห่งนี้เป็นผู้ดูแล สามารถรับเรื่องร้องทุกข์ของผู้บริโภคได้ทุกกรณี ก่อนจะดำเนินการตามหลักการหรือแนวทางปฏิบัติที่ถูกกำหนดไว้ เพื่อ ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่มีบทบาทและ รับผิดชอบโดยตรงกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น กับทางผู้บริโภค
"ที่ผ่านมา การทำงานของ สคบ.ยัง. หละหลวม เพราะแนวทางปฏิบัติตรงกันข้าม กับบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้บริโภคเข้ามาร้องทุกข์เกี่ยวกับเรื่องอาหารและยา มักจะถูกเจ้าหน้าที่ ปฏิเสธไม่รับเรื่องไว้ และให้ไปร้องทุกข์ยัง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยให้เหตุผลว่า สคบ.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นหน้าที่ของทาง อย. ที่มีส่วนรับผิดชอบ ซึ่งตามหลักความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพราะบทบาทของเราคือ งานคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น เจ้าหน้าที่ต้องรับเรื่องร้องทุกข์ของผู้บริโภคไว้ทั้งหมดไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม พร้อมดำเนินการ ต้องรับเรื่องคำร้อง กรอกเอกสารให้แล้วเสร็จ พร้อมลงทะเบียนและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบ และเมื่อผลพิจารณาออกมาเป็นอย่างไรเจ้าหน้าที่จะต้องตอบ ผู้บริโภคหรือผู้มาร้องได้ถึงความคืบหน้าของกรณีคำร้องดังกล่าว ซึ่งสิ่งนี้คือเป้าหมายหลักสำคัญ ที่ สคบ.กำลังจะขับเคลื่อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม"
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ กับการบริการที่เพิ่มความสะดวกสบายและใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น ล่าสุด สคบ.ได้ตั้งศูนย์บริการผู้บริโภคอยู่ชั้นล่าง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา แจ้งวัฒนะ ซึ่งทาง สคบ. ได้เรียกชื่อว่า "ศูนย์ราชการสะดวก ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค" โดยพื้นที่ภายในศูนย์บริการดังกล่าว จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เข้ามา ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาด้านผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ทนายอาสา ที่รับปรึกษาในเรื่องกฎหมายด้านคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึงกฎหมายในเรื่องอื่นๆ, เครือข่ายภาคประชาชนที่อาสาเข้ามาให้คำปรึกษา หรือเข้ามาช่วยผู้บริโภคในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งอาสาเข้ามาเป็นผู้แนะนำ ช่วยกรอกเอกสาร เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว
"เราต้องการเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน ทุกครั้งเมื่อมาติดต่อราชการ และประเด็นสำคัญคือ การก้าวเดินสู่บทบาทงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง เมื่อมี ผู้บริโภคเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องราว ปัญหาเกี่ยวกับอะไร บทบาทหน้าที่ของ สคบ.คือ ต้องรับเรื่องไว้ก่อน ห้ามบอกปัด หรือให้ผู้บริโภคไปยื่นเรื่องยังหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งศูนย์ราชการสะดวกฯ ตรงนี้ จะเป็นโมเดลเพื่อปรับโฉม สคบ.ยุคใหม่ เพื่อคุ้มครองดูแลผู้บริโภคอย่างแท้จริง และทุกปัญหา ทุกเรื่องราวของผู้บริโภค จะถูกรับเรื่องไว้ทุกเรื่อง แล้วเจ้าหน้าที่ทำการติดตามเรื่องให้อย่างต่อเนื่อง จนได้บทสรุปอย่างแน่นอน"
พร้อมกันนี้ นายอำพล ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า สคบ.พยายามที่จะเร่งผลักดัน เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 โดยมีแผนจะผลักดันให้แก้ไขกฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการเพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบการที่ดำเนิน ธุรกิจผิดไปจากแผนที่ได้ขออนุญาตไว้ เมื่อ สคบ.ปรับวิธีการทำงานแบบใหม่ ทำให้ความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการขายตรงจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ยิ่งขึ้น