WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1พ.ต.ต.สรยา สงหกมล

สัมภาษณ์พิเศษ : DSI เล็งกาหัวพวกแม่ทีมขี้จ้อ ขายฝัน'บ้าน-รถ'ร่วมลงทุนธุรกิจขายตรง

    บ้านเมือง : สุภพงษ์ เทียนสี/รายงาน

   ปัจจุบันธุรกิจขายตรงถูกเพ็งเล็งมากเป็นพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุน ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา มักตกเป็นเหยื่ออันโอชะของผู้ประกอบการที่ใช้ธุรกิจขายตรงมาเป็นฉากบังหน้า งัดกลยุทธ์ใช้วาทะกล่อมชาวบ้านจนหลงเข้ามาลงทุน สุดท้ายความสูญเสียมากมายมหาศาลก็ตามมา

     ในส่วนของบทบาทที่จะเข้ามาควบคุมกลุ่มขบวนการแชร์ลูกโซ่ คงหนีไม่พ้น 'ดีเอสไอ' ที่จะเข้ามาล้อมคอกไม่ให้ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อกับกลุ่มพวกนี้อีก วันนี้ มีโอกาสสัมภาษณ์มือปราบธุรกิจขายตรง 'พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล' ผู้บัญชาการสำนักงานคดีอาญาพิเศษ 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หลังเข้ามารับตำแหน่ง 4 เดือนผ่านพ้นไป ลองไปฟังประเด็นดังต่อไปนี้

4 เดือนคดีร้องเรียนอื้อ

    พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่ดูแลหน่วยงานนี้ เมื่อประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่กว่า 30 เรื่อง ซึ่งมีทั้งคดีเก่าที่นิ่งเงียบไปนานเป็นปี และคดีใหม่ที่เกิดขึ้นตามมาเป็นระยะ โดยมีทั้งผู้ร้องเรียนและแจ้งเบาะแสเข้ามายัง DSI อย่างต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ขบวนการที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ ล้วนเป็นผู้นำหรือแม่ทีมกลุ่มเดิมๆ ที่เคยก่อความวุ่นวายในลักษณะนี้มาก่อนหน้า โดยได้แตกไลน์การทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาเสริมเติมเต็ม เพื่อล่อลวงประชาชนให้หลงเชื่อง่ายยิ่งขึ้น แต่ลักษณะและรูปแบบการโมติเวท ยังอาศัยใช้คำพูดที่จูงใจให้ประชาชนเข้ามาลงทุนตามกองทุนต่างๆ อาทิ รวยได้ภายใน 3 เดือน 6 เดือน สามารถมีรถเบนซ์ขับ มีบ้านใหม่ได้ภายในไม่กี่เดือน ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการขึ้นเวทีโมติเวท และอัดคลิปเผยแพร่ทางยูทูบเพื่อดึงดูดผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทุน

    "ต้องยอมรับว่าคดีแชร์ลูกโซ่กว่า 30 เรื่อง หลังจากที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง มีทั้งคดีเดิมที่ตกค้างอยู่เยอะพอสมควร และคดีใหม่ๆ ที่ทยอยเข้ามาทุกวัน และบางคดีมีความยุ่งยากอยู่พอสมควร เนื่องจากเป็นคดีที่เราไม่ทราบเรื่องมาก่อน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม คดีทั้งหมดที่อยู่ในมือเรากว่า 30 คดีนี้ เราจะดำเนินการและสะสางให้แล้วเสร็จไปพร้อมกับแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบใหม่นับจากนี้"

จับขายตรงเซ็น MOU

     สำหรับ รูปแบบการทำงานนับจากนี้ หากประชาชนมีการแจ้งเบาะแสเข้ามายังหน่วยงาน DSI ทางหน่วยงานฯ จะใช้หมายเรียก ซึ่งเป็นรูปแบบของหนังสือเชิญเพื่อมาให้ข้อมูลและชี้แจงเกี่ยวกับข้อร้องเรียน พร้อมอธิบายถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ได้รับใบอนุญาตจากทาง สคบ.หรือไม่ โดยบริษัทฯ ที่ถูกร้องเรียนจะถูกบันทึกทำประวัติไว้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบในคราวต่อไป

      ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ธุรกิจขายตรงมีทั้งสีขาว สีเทา สีดำ ซึ่งกลุ่มขายตรงสีขาวดำเนินธุรกิจถูกต้องตามหลักเกณฑ์ โดยที่ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบอยู่แล้ว ส่วนขายตรงสีเทาทาง DSI เชื่อว่าสามารถที่จะพูดคุยกันได้ โดยล่าสุดหน่วยงาน DSI ได้ร่วมกับ สมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทยเซ็น MOU เพื่อสกรีนตรวจสอบบริษัทขายตรงอีกทางหนึ่ง โดยบริษัทที่เข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลง พร้อมที่จะให้ DSI เข้าตรวจสอบ และหากทำผิด เงื่อนไขข้อตกลง ทาง DSI ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที

      "วันนี้เราต้องตัดวงจรก่อน เพราะในอดีตเรามักจะรอให้มีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนหรือแชร์ยังไม่ล้ม ปล่อยจนล้ม แล้วเอามาเป็นคดี แต่วันนี้เราจะไม่ให้เกิดกรณีเช่นนั้นขึ้น เพราะแค่รู้ว่า มีคนแจ้งมา ถึงแม้จะยังไม่มีความเสียหาย บริษัทคุณจะต้องเข้ามาชี้แจ้งกับเรา และเมื่อมาชี้แจ้งเสร็จ ก็ต้องทำประวัติ ซึ่งที่ผ่านมา เราไม่มีประวัติเกี่ยวกับผู้ที่ก่อความเสียหายฉ้อโกงประชาชนตรงนี้เลย ซึ่งผมดูแล้ว วงจรนี้ไม่ได้กว้างอะไรมาก กลุ่มคนที่ก่อความเสียหายล้วนเป็นหน้าเดิมๆ ทั้งนั้น"

     ปัจจุบันหากมีการแจ้งเข้ามา เราจะเรียกบริษัทเขามาชี้แจ้งก่อน และหากไม่เป็นความผิดเราก็ให้ความเป็นธรรม แต่การที่เรียกมา คือ การพูดคุยและแนะนำว่า สิ่งที่คุณควรจะมีคืออะไร และไม่มีอะไร ยกตัวอย่าง คุณจะต้องจดทะเบียนบริษัท คุณต้องขออนุญาตอะไรบ้าง การเสียงบดุลชัดเจนไหม ทรัพย์สินหนี้สินมีไหม ซึ่งสิ่งที่ผมตรวจสอบผมไม่ได้ว่าคุณผิด แต่ผมต้องเอาข้อมูลตรงนี้ไว้บอกกับประชาชนอีกฝั่ง ที่เขากำลังลงทุนกับคุณว่า คุณไม่ได้มีเครดิตอะไรตรงนี้เลย ซึ่งไม่ได้บอกว่าเขาผิดกฎหมาย เพราะความเสียหายยังไม่เกิด แต่ผมจะบอกอีกฝั่งว่า ให้คิดดีๆ ถ้าจะลงทุนกับคนๆ นี้

เล็งแบล็กลิสต์พวกสร้างภาพ

        อีกประการ คือ การที่พูดว่า รวยได้ภายใน 3 เดือน 6 เดือน คุณแค่รับจ้างพูดเพราะในคำให้การ จะพูดชัดเจนว่าคุณอยู่ในฐานะอะไร คุณเป็นเจ้าของบริษัทหรือเปล่า หรือแค่รับจ้างพูด และเวลาพูดมักบอกว่า ตัวเองเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าคุณผิด แต่เราจะเอาข้อเท็จจริงที่ได้บอกกับประชาชนว่า เรื่องราวเป็นยังไง เรื่องที่เขามโนภาพว่าสามารถมีรถเบนซ์ มีบ้านหรูได้ภายใน 3 เดือน มันไม่มีนะ แล้วคนพวกนี้ที่เราจะเชิญมาจะทำประวัติหมด

       ทั้งนี้ 30 กว่าคดีที่ตรวจสอบมีที่แบบแรงๆ เลยคือ ทำผิดเงื่อนไข ผิดสัญญา ซึ่งเรื่องนี้ต้องฟังข้อเท็จจริงกับสมาชิกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแก้ไขสัญญา

     มันใช่หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองส่วน ซึ่งมีบางค่ายขาวมา 20-30 ปี แต่เมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร แล้วทำไมเปลี่ยนไป นี่คือกลุ่มแรก กลุ่มสอง เป็นขายตรงเทา ใช้ความเนียนแล้วก็พลิกมาเป็นแชร์ลูกโซ่ซ้อนมา กลุ่มนี้ชื่อไลน์เซ่นมา ส่วนกลุ่มสาม ดำมืด กลุ่มนี้เยอะสุด แอบอ้าง ยกเมฆ เอาใหม่จ่ายเก่า ผลกำไรดี ประชาชนก็หลงเชื่อลงเท่านี้ได้กลับเท่านี้ การจ่ายเร็วผลกำไรดี

     "เยอะมากครับผมบอกเลยเรื่องนี้ไม่จบ ผมนั่งมองมาตลอด ตอนนี้ผมให้ความสำคัญกับข้อมูลเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในทุกเรื่องเลยถ้าเราทำตัวข้อมูลดีๆ มันจะทำให้เราวางทิศทางของปัญหาได้ ผมก็เลยมองว่าเรื่องนี้ วิธีการเดิมๆ การไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การไปเดินสายต่างจังหวัด ให้ข้อมูลว่าพิษภัยแชร์ลูกโซ่เป็นอย่างไร เราทำมาเป็นสิบปีนะ แต่เรื่องมันไม่ได้ลดลงไปเลย ทุกวันนี้มันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วปัจจุบันมันกลายเป็นใช้สื่อโซเชียลมีเดีย คนคิดกับเหยื่อไม่ต้องเจอกัน อนาคตผมทำนายว่าวัฒนาการของมันแม่ทีมบทบาทจะน้อยลง เพราะทุกวันนี้มันตั้งกรุ๊ปไลน์ขึ้นมา แล้วมันให้คนแอดเข้าไป แม่ทีมแทบจะบทบาทน้อยลงไปมาก พอเข้าไปกลุ่มไลน์มันเสร็จเลย"

      ดังนั้น ตนก็เลยเปลี่ยนแนวใหม่เลย ถ้าหลักคิดเป็นอย่างนี้จะแจ้งข้อหาหมดเลย คนที่เป็นแม่ทีมใช่ไหม ถ้าคุณเคยมีประสบการในการเล่นมาแล้วนะคุณคือคนที่รู้มากที่สุด คนที่เป็นเหยื่อเขาไม่รู้หรอก คุณต้องรับผิดชอบต่อลูกทีม คุณต้องรับผิดชอบต่อสังคม ผมแจ้งข้อหาเลย ทุกวันนี้ผมบอกคดีพิเศษที่จะมีมาจากที่ผมรับหน้าที่ ทุกคนที่เป็นแม่ทีม แม้ว่าคุณจะเป็นคนพาผู้เสียหามานะ ผมแจ้งข้อกล่าวหาหมด แต่ต้องตรวจสอบให้ได้ว่าคุณเคยเล่นมาแล้ว แล้วมีการล้มมาแล้ว แต่ถ้าเป็นครั้งแรกๆ ผมให้อภัย ไม่เป็นไร

   สำหรับ การดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้ ตนจะดำเนินคดีกับแม่ทีมผู้ที่ตั้งต้นชวนคน ซึ่งต้องเกิน 10 คนขึ้นไปเป็นลักษณะแชร์ลูกโซ่ ตามมาตรา 4 พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการช่อโกงประชาชน คือ คนที่ตั้งตนเป็นนักชวนคนมา 10 คนถือว่าเข้าข่ายผิด ชวนแค่คนสองคนแต่ใต้สายงานเกิน 10 คน ก็เข้าข่ายความผิด คำว่าเกิน 10 คน ไม่จำเป็นว่าเราต้องชวนตรง เพราะเงินก็ถูกส่งผ่านเราไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง เขาก็จะมองวอลุ่มของปลายทางกับต้นทาง ต้นทางนั้นคือคนกู้

     นอกจากนี้แล้วพอเกิดเป็นคดีความขึ้นมากลุ่มแม่ทีมเหล่านี้ก็จะพูดว่าตัวเองก็เป็นผู้เสียหายเหมือนกัน ทุกคนที่มาพูดอย่างนี้ทั้งนั้น ในอดีตเขาพูดอย่างนี้แล้วเขารอดหมด แต่ตอนนี้มาไม่มีทางรอด ผมบอกได้เลยว่า คุณไปชักชวนญาติ ชักชวนพี่น้อง บางคนถึงกับครอบครัวแตกแยกเลยนะ ไม่มีความรับผิดชอบต่อใครเลย การที่ผมต้องตัดสินใจแจ้ง เพื่อให้วงจรฉุกคิดขึ้นมาบ้างว่าคนที่จะชักชวนคุณต้องใช้วิจารณญาณมีความรับผิดชอบต่อเพื่อนบ้าน ต่อสังคม คุณนะได้มือต้นๆ แต่พวกหลังจากคุณลงไปคุณคิดว่าคุณแนะนำเพื่อนไปแล้วมันจบแค่เพื่อน ไม่ใช่ไง เพื่อนก็ไปแนะนำคนอื่นอีก เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่จบแค่นี้

     "เพราะฉะนั้นตนต้องแจ้งข้อกล่าวหา เพื่อให้เกิดความยุ่งยาก แต่ว่าถ้ารายไหน บริสุทธิ์มา ถูกต้อง แล้วเราเชื่อว่าเขาก็หลงผิดมา เขาก็ถูกหลอกเป็นครั้งแรก ผมไม่แจ้งข้อหาหรอกเพราะเป็นภาระไปสร้างความเดือดร้อนให้เขา แต่ถ้ารายไหนคุณทำแล้วคุณเป็นแม่ทีมอยู่ในวงการอยู่แล้วคุณรู้อยู่แล้วในกลโกงแบบนี้แล้วคุณยังไปแนะนำคนอื่น ผมต้องแจ้งข้อกล่าวหา ต่อไปก็เป็นเรื่องของศาลว่าจะรอลงอาญาหรือยกฟ้องคุณ แต่คุณก็เกิดความยุ่งยากแล้ว อย่างน้อยในการทำครั้งหน้าคุณจะได้มีประวัติว่าเคยโดยคดีมาแล้วรอบหนึ่ง แต่ถ้ามีหลักฐานมากกว่านั้นอย่างถ้าคุณทำลักษณะแบบนี้มาแล้วสองสามครั้งศาลลงโทษแน่นอน"

พลิกโฉมการทำงาน DSI ใหม่

     พ.ต.ต.สุริยา กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการติดตามของเราตอนนี้เจ้าหน้าที่ใน

     หน่วยงานนอกจากจะทำคดีแล้ว ผมพลิกบทบาทการทำงานที่นี่หมดเลย เดิมเป็นพนักงานสอบสวนนั่งรับเรื่องเขา ใครมาแจ้งผมสั่งยังไงก็ไปทำอย่างนั้น การปรับใหม่เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องมีอารมณ์ความรู้สึกเรื่องการสอบสวน ทำการข่าวควบคู่ไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น มีเพื่อนใครไปแอดไลน์ใคร ก็ให้เข้าไปแอดมั่วแฝงตัวเข้าไปกับเขาด้วย ซึ่งทุกวันนี้น้องๆ ผมจะอยู่ในกลุ่มพวกนี้หมดเลย ไปคุยไปชวนไปไหนรู้หมด ใครแอดเข้ามามันเชื่อ ถ้าดูแล้วคนไหนมันไม่ไว้ใจ น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่มันบล็อกเลย ซึ่งสื่อโซเชียลมันมีประโยชน์ต่อคนกลุ่มนี้ มันเลยทำให้การแพร่ละบาดเร็วมาก

      สำหรับ 30 กว่าคดีที่กล่าวมา เราดำเนินการหมด ส่วนจะรอดหรือไม่รอดอยู่ที่หลักฐาน เราให้ความเป็นธรรมทั้งหมด แล้วคดีเก่าๆ ที่มันปิดบริษัทไปแล้วแต่ว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องคดี เราเรื้อสืบย้อนหลังหมด ผมใช้มาตรการการยึดทรัพย์อะไรพวกนี้มา ผมเดินสายพกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาก็ได้เชิญทั้ง ป.ป.ง. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมาหาโมเดลที่ดีสำหลับการยึดทรัพย์เฉลี่ยคืนให้กับเหยื่อ แต่ว่าตอนนี้ล่าสุด ป.ป.ง. เขาแก้กฎหมาย อีกหน่อย ป.ป.ง.ยึดทรัพย์จะไม่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว การยึดทรัพย์จะมีแชลแนลหนึ่งสำหรับคดีช่อโกงประชาชนให้ผู้เสียหามายื่นเรื่องร้องเอาคืนเลย ไม่ต้องไปรอจนศาลตัดสิน อันนี้เป็นเรื่องใหม่ของ ป.ป.ง.

     นอกจากนี้ ในส่วนของ DSI จะยึดมาแต่ยังคืนไม่ได้ ผมยึดหมดขอให้รู้ว่าไอ้นี่มันโกงเขามาผมยึดเลย ใช้อำนาจของผมยึดไว้ก่อนเลย แต่รูปแบบของการคืนต้องอาศัย ป.ป.ง. หรือไม่ก็อาศัยสำนักเศรษฐกิจการคลัง เดิม ป.ป.ง. ยึดเป็นของแผ่นดิน สำนักเศรษฐกิจการคลังยึดแล้วฟ้องล้มละลายเพื่อเอามาเฉลี่ยให้กับผู้เสียหาย ณ วันนี้ก็ยังใช้วิธีการล้มละลายจะดีกว่า แต่ว่าในอนาคต อีกเดือนหรือสองเดือน ป.ป.ง. พอแก้กฎหมายนี้เสร็จ มันอาจจะไม่มีใครใช้ล้มละลาย อาจจะใช้ ป.ป.ง. เพราะว่ายึดปึ๊บ ผู้เสียหายสามารถไปร้องขอคืนสิทธิก็คือเอาทรัพย์มาเฉลี่ยได้ มันจะเร็วลดขั้นตอนไปมาก อันนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เป็นกฎหมาย ป.ป.ง.ล่าสุดที่กำลังเข้าพิจารณาอยู่

     นอกจากนี้ DSI ได้เข้าไปคุยกับ ป.ป.ง. ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 2 โดยขั้นตอนแรกผมทำเป็นคดีพิเศษ พอเป็นคดีพิเศษพอผมสืบสวนแล้วพอรู้แล้วว่าเขามีทรัพย์สมบัติอะไร ผมก็จะใช้อำนามตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งอายัดไปก่อน อายัดบัญชีธนาคาร ที่ดิน รถ ทรัพย์สิน หุ้นในตลาด อายัดไว้หมด แต่ว่าให้ความเป็นธรรม พออายัดเสร็จเขาต้องมีหน้าที่มาแสดง เพราะเดิมคือเราไม่แตะ คือเราสอบผู้เสียหายไปเป็นร้อยเป็นพันคน กว่าจะหันกลับมาแตะฝ่ายบริษัทกว่าจะเสร็จเป็นปี ทุกวันนี้เราทำคู่ขนานเลย ทีมหนึ่งสอบผู้เสียหายก็สอบไป แล้วล่าสุดไม่ต้องสอบทุกปากแล้ว ทำเป็นแบบฟอร์มกรอกเลย เพราะมันเยอะ ทำแบบฟอร์มเลย คุณเสียหารคุณกรอกมา วันหนึ่งผมสอบเป็นร้อย

     "ตอนนี้เรื่องราวที่มันเข้ามา ถ้าใช้วิธีเดิม จะต้องเป็นอีก 10 กรมสอบสวนก็ไม่มีทางจบ คือ ผมมองแล้วไม่ใช่ชาวบ้านโง ไม่ใช่อะไรเลย แต่ดูจากคนที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนมีความรู้ทั้งนั้น ผมดูแล้วคนมีเหตุมีผลโดนหลอกหมด เพราะคนไม่รู้เรื่องจะไม่เชื่อ คนเชื่อคนมีเหตุผลหมด พอมีเหตุผมมาคนก็เชื่อ แล้วที่ผ่านมามือแรกๆ เขาก็ได้จริง แต่เขาเป็นตัวที่เขาเซตไว้แล้วว่าคนนี้ต้องได้ แต่ว่าในท้ายสุดหลังๆ มาที่แพร่ออกไปเป็นฐานใหญ่ก็โดนไป คนแรกๆ จะได้เงินได้คืนทุนหมด"

      เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เลยเกิดปรากฏการณ์ คนที่เล่นรู้ว่าเป็นแชร์ บริษัทที่ตั้งๆ มาเขารู้ แต่พยายามเป็นมือแรกๆ เพราะมันบอกอยู่แล้วว่าเงื่อนไขในหนึ่งปีกว่าจะถอนเงินได้ เพราะฉะนั้นเราต้องรีบเข้าไปเป็นมือแรกๆ มือแรกๆ จะได้ หรือไปก็คุ้มทุน หรือไม่ก็กำไร เพราะฉะนั้นคนที่เป็นแม่ทีมต้นสายเลยไม่เลิก ผมพยายามจะดึงให้เขาเลิกมาโดยศึกษาเหตุผลนี้แล้วเขาไม่เลิก เพราะเขารู้ว่าเขาไม่โดนอะไร แล้วเขารวย

 

มือปราบดีเอสไอยุค'สุริยา'

ประกาศลั่นทุ่งลุยกำจัดแชร์ลูกโซ่

    ถึงคิว “สุริยา” ผงาดขึ้นมือปราบ DSI แทน 'พ.ต.อ.นิรันดร์'เตรียมระดมสรรพกำลัง พร้อมปัดฝุ่นคดีเก่ามาทำใหม่ สร้างพลังศรัทธาประชาชน เร่งทำงานเชิงรุก สร้างมาตรฐานใหม่ DSI พึ่งได้ ปรับรูปแบบการทำงานใหม่เชิงบูรณาการ ประกาศลั่นทุ่งกำจัดผู้กระทำผิดซ้ำซาก โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องเรียนก่อน เสริมเขี้ยวเล็บด้วย ม.24 วรรค 1(5) ปิดเกมขนทรัพย์ชิ่งหนี พร้อมขึ้นบัญชีดำพวกนอกกฎหมาย ติดตามพฤติกรรมเป็นพิเศษ พร้อมเตรียมเข้าหารือ สคบ.และหน่วยงานอื่นๆ เร็วๆ นี้

    สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ถือเป็นอีกกรมกองหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของ DSI โดยเฉพาะการกับกับดูแลคดีสำคัญๆ อย่างคดี “แชร์ลูกโซ่” การปราบปรามผู้มีอิทธิพลนอกกฎหมาย และอื่นๆ อีกมากมาย

    วันนี้ สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 มีการปรับเปลี่ยนตัวผู้กุมบังเหียนสำคัญนี้ จากมือ “พ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์” ซึ่งไปนั่งเป็น ผบ.เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็น พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล นายตำรวจฝีมือดีที่มีความรู้ความสามารถอย่างเต็มเปี่ยม ในโอกาสนี้ “บ้านเมือง” มีโอกาสพูดคุยถึงการเข้ามารับหน้าที่ ซึ่งมีหลายๆ เรื่องที่น่าติดตามดังประเด็นต่อไปนี้

    พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายให้มาจัดระเบียบคดีที่ยังค้างอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่สมัครใจมาช่วยอีกประมาณ 50 คน พร้อมกับทีมงานชุดเดิมที่มีอยู่ ซึ่งจะต้องมาร่วมกันศึกษาปัญหาต่างๆ ที่ติดขัด โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับ “แชร์ลูกโซ่” ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 20 คดี ที่จะต้องนำกลับมาสืบสวนสอบสวนใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้องผสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐอีกหลายๆ องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพราะอำนาจบางอย่างต้องทำควบคู่ไปกับองค์กรอื่นด้วย

       “เราดึงตัวทีมเทคนิคเข้ามาช่วยดูเรื่องข้อมูล ซึ่งจะมีการติดตามข้อมูลบริษัทใหม่ๆ ที่เข้าข่ายการทำธุรกิจไม่โปร่งใส ถือเป็นการทำงานเชิงรุกที่สามารถให้บริการประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ หรือรอให้เรื่องแดง รอให้มีผู้ร้องเรียนแล้วค่อยดำเนินการ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายในวงกว้างไปก่อนแล้ว นอกจากนั้นเรายังส่งทีมไปสืบไปฝังตัวเพื่อเก็บข้อมูล และให้ทำรายงานส่ง เมื่อถึงเวลาข้อมูลครบถ้าเกิดกระทำความผิดจริงก็จะเข้าจับกุมโดยไม่ต้องรอชาวบ้านผู้เสียหายมาแจ้ง” พ.ต.ต.สุริยา กล่าว

     อย่างไรก็ตาม ทาง DSI เตรียมหารือกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ในเรื่องของข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันได้มีการติดตามพฤติกรรมของคนบางกลุ่ม ทั้งไทยและต่างชาติโดยเฉพาะมาเลเซีย เนื่องจากพบพฤติกรรมต้องสงสัยว่ากระทำผิด อีกทั้ง หลังจากนี้ทาง DSI จะจัดทำสถิติการร้องเรียน และบันทึกรายชื่อของบุคคลที่มีพฤติกรรมชอบกระทำผิดไว้ที่ส่วนกลางเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดต่อไป

     พ.ต.ต.สุริยา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการนำ DSI ไปกล่าวอ้างในทางเสียหาย อาทิ การแอบอ้าง โดยเอาชื่อ DSI ไปบอกว่า DSI สืบสวนแล้วบริษัทตัวเองไม่มีความผิด แล้วนำเอาไปเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้อาจทำให้หน่วยงาน DSI เสียหายและตกเป็นเครื่องมือได้

      ดังนั้น หลังจากนี้จะเปลี่ยนใหม่ โดยระหว่างที่ DSI กำลังดำเนินการตรวจสอบ จะใช้วิธีการลงประกาศในเว็บไซต์ของกรมฯ ว่ากำลังตรวจสอบอะไรบ้าง พบการกระทำผิดอะไรบ้าง เพื่อเตือนให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการลงทุน แต่จะยังไม่ฟันธงในคดี เพราะยังอยู่ในช่วงตรวจสอบ ถือเป็นการเตือนภัยให้ประชาชนล่วงหน้าไว้

    อย่างไรก็ตาม การเข้ามารับหน้าที่ตรงนี้นั้น ต่อจากนี้ไปจะมีการระดมสรรพกำลังของบุคลากรสำหรับการทำงานร่วมกับ สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ไม่ต่ำกว่า 50 ราย และจะมีการรื้อคดีเก่าๆ ที่คั่งค้างจากอดีตนำมาปัดฝุ่นใหม่ และสืบสวนสอบสวนใหม่ทั้งหมด ในทุกคดี โดยเฉพาะคดีแชร์ลูกโซ่ ซึ่งยังคงมีตกค้างหลายสิบคดี

   นอกจากนั้น ทาง DSI จะเพิ่มรูปแบบการทำงานใหม่ จากอดีตได้ทำงานคู่ขนานกับ ป.ป.ง. ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง เนื่องจาก ป.ป.ง.มีอำนาจยึดทรัพย์จำกัด 90 วัน ก็ต้องคืน ซึ่งยังไม่รัดกุมพอที่จะใช้กับกลุ่มคนที่ชอบกระทำความผิด ดังนั้นจะใช้วิธีใหม่ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 24 วรรค 1(5) ซึ่งสามารถสั่งอายัดทรัพย์ได้ทันที ก่อนที่จะให้ผู้ถูกอายัดไปชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินกับ ป.ป.ง.

   “การใช้อำนาจมาตรา 24 วรรค 1(5) จะเร่งออกหมายจับ พอออกหมายจับเสร็จจะแจ้งตัวเลข 13 หลักไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น กรมที่ดิน กรมขนส่ง(ทะเบียนรถ) ธนาคารทุกธนาคาร การลงทุนในอนาคต หรือใน ก.ล.ต. หุ้นต่างๆ จะส่งหนังสือพร้อมตัวเลข 13 หลักไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออายัดทรัพย์ผู้ต้องหาเอาไว้ จากนั้นจะแพ็กเกจที่มัดรวมเป็นก้อนนส่งให้ ป.ป.ง. แล้วให้ผู้ต้องหาไปชี้แจงกับ ป.ป.ง.ว่าทรัพย์สินส่วนไหนที่ได้มาจากการฉ้อโกง และส่วนไหนได้มาแบบสุจริต เราต้องอายัดรวมไว้ก่อนในช่วงเวลาที่กระทำผิดจะได้ไม่ต้องขนทรัพย์สินหนี เราจะใช้วิธีการแบบนี้ต่อกรกับคนพวกนี้หลังจากนี้”

    พ.ต.ต.สุริยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินคดีกับกลุ่ม “แชร์ลูกโซ่” โดยขึ้นบัญชีดำรายชื่อที่มีประวัติชอบกระทำผิด หรือพวกที่ชอบเปลี่ยนชื่อ นามสกุลใหม่บ่อยๆ หรือคดีเก่ายังไม่จบ แต่ไปกระทำผิดที่ใหม่อีก จากนี้ไปจะเปลี่ยนแนวการดำเนินคดีใหม่โดยจะตามเช็คประวัติดูว่าคนไหนที่ไม่เลิกพฤติการณ์ อยู่ระหว่างสู้คดีนี้แล้วยังไปหาหลอกลวงชาวบ้านในกองทุนใหม่อีก โดยการดำเนินคดีใหม่นับจากนี้จะเอากลุ่มบุคคลประเภทนี้เป็นตัวตั้ง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!