- Details
- Category: ขายตรง
- Published: Thursday, 26 March 2015 23:51
- Hits: 2450
สคบ.เคาะสนิม กม.ขายตรงเล็งเดินสายระดมความคิดทั่วไทย
บ้านเมือง : สุภพงษ์ เทียนสี/รายงาน
ปัจจุบันธุรกิจเครือข่ายขายตรง ถือเป็นหนึ่งธุรกิจ โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรงใหม่ พ.ศ. ... ที่ถูกร่างขึ้นมา เพื่อที่จะนำมาใช้ในการดูแล ควบคุมธุรกิจเครือข่ายขายตรงให้เข้มข้นเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เรียกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครือข่ายขายตรง ประกอบไปด้วยสมาคมการขายตรงไทย (TDSA), สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (TDIA), สมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (TSDA) สมาคมธุรกิจเครือข่ายขายตรงไทย (TDNA) และสมาคมนักธุรกิจอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรงใหม่ พ.ศ. ...
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาประชาพิจารณ์ เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมได้เสียและผู้เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... โดยในหัวข้อต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 3 หัวข้อหลักคือ 1.ร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว แต่ สคบ.เห็นควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม 2.ร่างประกาศคณะกรรมการ การขายตรงและตลาดแบบตรง ว่าด้วยลักษณะแผนการจ่ายผลตอบแทนของผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และอัตราค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเป็นสมาชิกในธุรกิจขายตรง พ.ศ. ...และ 3.สืบเนื่องมาจาก สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และธุรกิจแบบตรง ทำให้สมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรงควรมีบทบาท หรือแนวทางในการควบคุมดูแลสมาชิกของตน เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีการร้องเรียนที่เกิดขึ้น
ดังนั้น สคบ.จึงได้มีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ โดยใช้กองทุนนี้ชดใช้ให้ผู้บริโภคก่อนขายตรงได้วางแผนไว้ว่าถ้าได้รับการเอาเปรียบก็ควรจะมีกองทุนตรงนี้ แต่หลายบริษัทได้ลงความเห็นว่าได้ดูแลลูกค้าดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีกองทุน ตรงนี้ สคบ.รับฟังไว้ แต่ยังไม่ได้สรุป เพราะต้องดูก่อนว่ามีคนเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน เพราะ สคบ.ต้องเดินสายไปทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้งที่หาดใหญ่ สงขลา และ เชียงราย ก่อนนำความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปสรุปอีกครั้ง
เพราะฉะนั้นในการแก้กฎหมายนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานที่มีการยอมรับร่วมกัน ทั้งผู้บริโภค ทั้งผู้ประกอบธุรกิจ และภาครัฐเอง ในฐานะผู้กำกับดูแล ถ้าจะเร่งรัดให้เสร็จภายใน 1-2 ปีคงยาก ถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้ ถ้าได้ข้อสรุปทั้งหมดจะนำมารวบรวมและนำมาประชุมทั้ง 5 สมาคมมัดรวมกัน เพื่อหารืออีกรอบ และเชิญสื่อมวลชนเข้าไปด้วยว่าตกลงมีความเห็นอย่างไร
"ตอนนี้ผมเอาฐานปี 54 ที่ผ่านการยกร่างเอานำเข้าไปสู่สภา จากนั้นเราค่อยแก้ไขในขั้นกรรมาธิการ เพราะที่ผ่านมาตรงนั้นผ่านมา 5 ปีแล้ว เราต้องเข้าไปนำเสนอ แต่ถ้านำเสนอนับ 1 ให้ก็จะต้องรออีก 5 ปี เพราะขนาดที่เราทำมาตั้งแต่ปี 54 นี่ก็ 4 ปีผ่านมาแล้วยังไม่เข้าสภาเลย ตอนนี้ถือว่าอยู่ขั้นกลางแล้วเพื่อเข้าสภาอีกที เส้นทางยังอีกยาวนาน ตอนนี้ท่านรัฐมนตรี ม.ล.ปนัดดาบอกว่าขอให้รับฟังทุกๆ ฝ่าย เพื่อเห็นชอบร่วมกัน จากนั้น
ค่อยผลักดัน ไม่งั้นเราจะสำเร็จยาก และตอนนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะสภาขณะนี้ไม่มีการเมืองเข้าแทรก ถือว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะนำเสนอ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรงเข้าไป"
ด้านนายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการส่วนขายตรงและตลาดแบบขายตรง สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทาง สคบ.ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติขายตรง (ฉบับที่ .) พ.ศ. ... ให้กฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณา โดยส่งไปที่สภาผู้แทนฯ แต่เนื่องจากสภาฯ หมดวาระจึงต้องรอเข้าไปพิจารณาในสภาชุดใหม่แทน สำหรับประเด็นหลักที่ สคบ.ได้ส่งเข้าไปคือเรื่องทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทขายตรงที่ต้องมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท สำหรับบริษัทไทย และ 10 ล้านบาท สำหรับบริษัทข้ามชาติ และการย้ายสำนักงานควรที่ตั้งไว้ที่ 15 วัน จะต้องมาแจ้ง ในความเห็นของสมาคมต่างๆ มองว่าเร็วไป ควรจะขยายระยะเวลาออกเป็น 30 วัน เพื่อความคล่องตัวในการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ ในความเห็นของสมาคมฯ ซึ่งการจดทะเบียนขอใบอนุญาต โดยเมื่อก่อนไม่มีการต่ออายุ จดครั้งเดียวได้ตลอดชีพ ต่อไปจะต้องต่ออายุทุก 2 ปี นับจากวันที่อนุญาต ซึ่งสมาคมเห็นว่าสั้นไปควรจะเป็นครั้งแรก 2 ปี ครั้งที่ 2 มีอายุ 5 ปี และครั้งต่อไป 10 ปี และการควบคุมมิให้โอนสิทธิในการอนุญาต เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ซื้อขายใบประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นการป้องกันแชร์ลูกโซ่ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย แต่ถ้าเป็นญาติโดยชอบธรรม สามารถทำได้ และการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนทั้งหมด
ส่วนกองทุนธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ทางสมาคมฯ มองว่าเป็นการไม่สมควร เพราะทางสมาคมฯ ได้ดูแลกันอยู่แล้ว แต่ถ้าหน่วยงานรัฐเข้ามาบริหารจัดการให้ รวมทั้งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุน ทางสมาคมฯ ยินดี และที่เป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวข้องกับผู้จำหน่ายอิสระ เพราะจะต้องมีคณะกรรมการส่งเสริมอาชีพขายตรงและตลาดแบบตรง โดยมีองค์กรสรรหามีอำนาจส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ควบคุมจรรยาบรรณของผู้จำหน่ายอิสระ พร้อมกับขึ้นทะเบียน การสอบการอบรม ตรงนี้ทางสมาคมฯ หวั่นกระทบกับผู้ที่อยู่ในธุรกิจขายตรง ที่มีกว่า 11 ล้านคน เพราะคนส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่ใช้สินค้ามากกว่านักธุรกิจ ถ้ามีการขึ้นทะเบียนผู้จำหน่าย ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างแน่นอน
ดังนั้น "สคบ." จึงวางไว้หลวมๆ หากใครต้องการขึ้นทะเบียนก็สามารถทำได้ แต่หากใครที่ไม่ต้องการขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นการยืดหยุ่น ไม่ให้กระทบกับผู้จำหน่ายอิสระโดยรวม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น "สคบ." คงต้องเดินสายไปทำประชาพิจารณ์อีกหลายครั้งเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ คาดปลายปี 2558 หวังว่าคงจะตกผลึกและจะได้นำเข้า ครม.ต่อไป