- Details
- Category: ขายตรง
- Published: Thursday, 19 March 2015 23:21
- Hits: 3346
เอกชนขายตรงมองต่างมุม ตีกรอบทุนจดทะเบียน 10 ล.
บ้านเมือง : สุภพงษ์ เทียนสี/รายงาน
ผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงมองต่างกฎหมายขายตรง ชี้ต้องตีกรอบทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท หวังล้อมคอกพวกขี้โกง เอาเปรียบผู้บริโภค ขณะที่อีกฟากฝั่งระบุบริษัทขนาดเล็ดหรือพวกเอสเอ็มอีทุนจดทะเบียนแค่ 2 ล้านบาท เหตุมีทุนน้อย
หลังจาก สคบ.แก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรงรอบใหม่ เห็นชอบให้มีการกำหนดทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท กำหนดให้ทุกบริษัทขายตรงต้องวางเงินหรือทรัพย์สินค้ำประกันไว้กับธนาคาร หวังยกระดับอุตสาหกรรมขายตรง หวังขจัดแชร์ลูกโซ่ โดยเฉพาะได้นำร่างกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมในบางมาตราไป เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อการพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย แต่ทว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังคงค้างคาในขั้นตอนการพิจารณา
ต่อกรณีนี้นางสุชาดา ธีรวชิรกุล กรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ กล่าวว่า สคบ.ต้องการที่จะคัดกรองบริษัทฯ ที่เข้ามาทำขายตรงให้ดีขึ้น สำหรับประเด็นที่สมาคมฯ มีข้อเสนอเพิ่มเติม ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงที่จะยื่นคำขออนุญาตการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง โดยกำหนดคุณสมบัติคือต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท อาจช่วยป้องกันบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างผิดกฎหมายได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันบริษัทที่ระดมทุน และใช้แผนการแยบยลในการหลบเลี่ยงกฎหมายได้
ขณะเดียวกัน ยังมีบริษัทในธุรกิจขายตรงที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 10 ล้านบาทเป็นจำนวนมาก แต่ก็สามารถดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีจริยธรรม สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยเป็นจำนวนมาก จึงเห็นว่าควรมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักเกินไปสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย
ด้านนายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ปัจจุบันขายตรงมีคนไทยที่อยู่ในระบบมากกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 10-20% ของคนไทยทั้งประเทศ แต่กฎหมายยังคงใช้ฉบับเดิมมาตั้งปี 2545 และเมื่อ สคบ.ได้ดึงร่างกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนมุมมองของทางสมาคมฯ อย่างแรกก็คือทุนจดทะเบียน 10 ล้าน โดยเฉพาะบริษัทที่เป็น SME ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าไม่มีทุนมาก ควรน่าจะ 2 ล้านบาทเหมือนเดิม
"สำหรับ การวางเงินประกันนี้ผมมองว่าไม่น่าเกี่ยวข้อง ไม่น่าจะเป็นประโยชน์อะไร ถ้าบริษัทที่เป็นมันนี่เกมนี้เขาก็สามารถทำได้ แต่ทาง สคบ.บอกว่าจะเป็นเงินที่ใช้ในเรื่องของโปรดักส์ต่างๆ ถ้ามีปัญหาทันที ซึ่งอาจจะไม่ต้องฟ้องร้องอะไร ตรงนี้ผมก็ไม่ได้ติดใจอะไรมากนัก"
ส่วนการตั้งกรมขายตรงขึ้นมานี้เห็นด้วย และการตั้งบอร์ดเห็นด้วย ซึ่งในส่วนสมาคมที่มี 5 สมาคมนี้มีบุคลากร 2 ท่านเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้มีปากมีเสียงกับสมาชิกได้ และอีกอย่างก็คือสมาคมที่มีส่วนดูแล ผู้บริโภคที่เกิดขึ้นใหม่ที่ดูแลตัวแทนจำหน่าย ผมมองว่าจะคัดสรรมาจากสมาคมใด มีการอบรมไม่เป็นประโยชน์เช่นกัน ถ้าทำแบบประกันอย่างนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ควรอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ถ้าสมาชิกที่จะเข้ามาจดทะเบียนขายตรงจะต้องอยู่ในสมาคมขายตรงใดสมาคมหนึ่ง เพื่อความดูแลง่ายขึ้น โดยทาง สคบ.จะได้เบาแรงในการกำกับดูแลส่งเสริมด้วย และทาง สคบ.จะต้องกำหนดมาตรฐานต่างๆ แบบ ISO เพื่อรับรองมาตรฐานจากทางสมาคมด้วย
ด้าน รศ.สุษม ศุภนิตย์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะต้องมีการแก้ไขหลายมาตรา เช่น มาตรา 3 ในเรื่องคำจำกัดความของผู้บริโภค คำนิยามผู้ประกอบการ และแผนการจ่ายผลตอบแทน มาตรา 23 (3) ที่ระบุเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะต้องรับซื้อสินค้า วัสดุอุปกรณ์
ชุดคู่มือประกอบการดำเนินธุรกิจต่างๆ ไม่ชัดเจนและยังเปิดช่องว่างไว้ในมาตรา 8 (3) เสนอให้เพิ่มผู้แทนในส่วนของผู้จำหน่ายอิสระอีก 1 ตำแหน่ง ในคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้แทนจากผู้ประกอบการด้านธุรกิจขายตรงเพียง 2 ตำแหน่ง จากคณะกรรมการทั้งหมด 14 ตำแหน่ง ส่วนเรื่องการคืนสินค้าซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายมาตราจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน เป็นต้น
ด้านนายสิทธิศักดิ์ หาพุฒพงษ์ ประธานอนุกรรมการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนเข้าใจ พ.ร.บ.ขายตรงอย่างลึกซึ้งน้อยมาก จึงต้องมีการระดมความคิดจากทุกฝ่ายเพื่อเร่งแก้ไขปรับปรุง เนื่องจากตลาดขายตรงมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท และมีผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท