- Details
- Category: ขายตรง
- Published: Thursday, 15 January 2015 22:41
- Hits: 3162
'โฟกัส'ขายตรง: ปรับโฉม สคบ.(จบ)
บ้านเมือง : หนุ่มเซลส์แมน
ฉบับที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านคงเข้าใจความหมายของ สโลแกน สคบ. ในยุคของ'อำพล วงศ์ศิริ'กับคำว่า'เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้'
อีกหนึ่งแนวนโยบายของ สคบ. ที่ได้ให้ความสำคัญยิ่ง ก็คือ การผลักดันการตั้ง'ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ'เป็นไปได้ อยากให้เป็น 'วาระแห่งชาติ' เพราะเกี่ยวพันถึงความทุกข์ยากของคนไทยทั้งประเทศ
ศูนย์คุ้มครองนี้จะมีคณะทำงานร่วมจากหลากหลายหน่วยงาน หรือกรมต่างๆ อาทิ สคบ., อย., ตำรวจ หรือหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง
เรื่องนี้จะชงเข้า ครม. แต่ยังติดอยู่ที่ สำนักเลขาคณะรัฐมนตรี และการที่ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค มีอยู่ในหลากหลายหน่วยงานที่ทำงานทับซ้อนกัน หรือมีความต่างกันอยู่บ้างในบางมุมมองของข้อกฎหมาย
ความคิดของ สคบ. จึงอยากแก้ไขความซ้ำซ้อนของกฎหมายให้เป็นรูปแบบแบบเดียวกัน และสามารถใช้ได้พร้อมๆ กัน
จะดีที่มีกฎหมายเพียงหนึ่ง และปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการดูแลประชาชนก็จะง่ายขึ้น ผ่านเพียงศูนย์เดียวก็สามารถจัดการได้ทุกเรื่องอย่าง "ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ"
ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นด้วยเต็มประตู เพราะที่ผ่านมาผู้เขียนเอง เวลารับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในหลากหลายเคส เดี๋ยววิ่งไปตรงนั้นที ตรงนี้ที มั่วไปหมด
สำคัญกว่านั้น หน่วยงานราชการโยนกันไป โยนกันมา จนเกิดความยากลำบากต่อผู้ร้อง
และเห็นด้วยอีกว่า การที่ สคบ. มีแนวคิดจัดตั้ง'กองทุนเยียวยาผู้บริโภค'ขึ้นมากรณีมีปัญหา จ่ายค่าเสียหายเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้เสียหาย เพื่อบำบัดทุกข์เฉพาะหน้าให้เร็ว ไม่ใช่ช้า อืดอาด เหมือนปัจจุบัน
เงินสำรองจ่ายเยียวยาล่วงหน้า เป็นหน้าที่ของ สคบ. ตามไล่บี้เก็บย้อนหลังจากผู้กระทำผิดนำมาโปะกลับเข้ากองทุนดังเดิม
ผู้เขียนมองว่า โดยแนวคิดการ'ปฏิรูป' ระบบการคุ้มครองผู้บริโภค ของ สคบ. นั้นกำลังเดินมาถูกทาง กลัวเพียงแต่กระบวนการที่ล้าช้า ซึ่งเกิดขึ้นทุกยุค ทุกสมัย
สำคัญที่สุดคือ เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเหมือนจะเป็นลำดับความสำคัญท้ายๆ ของทุกรัฐบาล เห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคปีหนึ่งๆ ไม่เคยถึง 250 ล้าน
บางปีแค่ร้อยกว่าล้าน หรือแค่สองร้อยล้าน แต่ดูแลคนไทยทั้งประเทศ
เอ้อ!! ประเทศไทยก็เป็นซะประการ ณ ฉะนี้แล...