- Details
- Category: ขายตรง
- Published: Thursday, 25 December 2014 23:34
- Hits: 3661
สคบ.กำจัดจุดอ่อนแชร์ลูกโซ่ เล็งปฏิรูปกฎหมายขายตรง
บ้านเมือง : สุภพงษ์ เทียนสี/รายงาน
'สคบ.'เดินหน้าปฏิรูปการทำงาน เตรียมแก้ไขกฎหมายขายตรง ระบุดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมวง พร้อมตรวจแถว MLM หน้าใหม่-เก่า อุดช่องโหว่บริษัทผุดแผนเถื่อนส่อแววกลายพันธุ์ เร่งตั้ง "องค์กรฯ ขายตรง"-"กองทุนขายตรง" ช่วยเหลือผู้จำหน่ายอิสระที่ถูกละเมิดสิทธิ์ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตในธุรกิจ พร้อมย้ำชัดแชร์ลูกโซ่ตัวทำลายภาพลักษณ์ แนะประชาชนตั้งข้อสังเกตก่อนเทใจลงทุน หากพบบริษัทเข้าข่ายเตรียมฟันไม่เลี้ยง
นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า การทำงานของ สคบ.จะทำงานเชิงรุกมาตลอด โดยได้สิ่งเสริมและกำกับดูแลธุรกิจขายตรง เนื่องจากปัญหาการประกอบธุรกิจขายตรงที่ผ่านมาพบปัญหาหลายอย่าง เช่น การไม่จ่ายผลตอบแทนให้สมาชิก ผู้จำหน่ายอิสระแนะนำให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนครั้งละมากๆ หรือการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ปัญหาการโฆษณาที่เกิดความเป็นจริง เป็นต้น ส่วนปัญหาการตลาดแบบตรงเป็นธุรกิจที่มีการซื้อขายสินค้าผ่านสื่อนั้น พบว่ามีปัญหาหลายประการ เช่น ซื้อแล้วโอนเงินแล้วแต่ไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าไม่ถูกต้อง ได้รับสินค้าปลอม ปัญหาการหลอกลวงต่างๆ ปัญหาการปิดเว็บไซต์หนี โดยไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ปัญหาการสื่อโฆษณาที่เป็นเท็จหรือเกินจริง เป็นต้น
ทั้งนี้ สคบ.ต้องดูแลผู้บริโภคตั้งแต่ในระดับต้นน้ำ เน้นการทำงานแบบป้องปราม ให้ความสำคัญกับ ผู้บริโภคในระดับรากหญ้ามากยิ่งขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมากลุ่มคนรากหญ้าโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนต่างจังหวัด มักถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุน ซึ่งในปัจจุบันด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้มีผู้ให้ความสนใจหันมาประกอบธุรกิจขายตรงเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็พบปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ การนำสินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาตมาแอบแฝงขาย ปัญหาการหาสมาชิกโดยการอธิบายแผนการจ่ายผลตอบแทนที่บิดเบือนไปจากแผนที่ได้รับอนุญาต ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคและธุรกิจ โดยจากการยืนจดทะเบียนรวมแล้วเป็นหลักพัน แต่ได้ยกเลิกการประกอบธุรกิจไปประมาณ 200 บริษัท แต่ยังไม่ได้ยื่นจดยกเลิก ตรงนี้เป็นหน้าที่ของ สคบ.ต้องเข้าไปตรวจสอบต่อไป
ขณะเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจขายตรง และในฐานะที่ สคบ.ถือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง มีความประสงค์ต้องการที่จะเดินหน้าปลูกฝังให้กลุ่มผู้ประกอบการขายตรงทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดผลอย่างชัดเจน ยิ่งเศรษฐกิจมีปัญหามากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นช่องทางของการเกิดแชร์ลูกโซ่ระบาดมากเช่นกัน
"ต้องบอกว่าที่ผ่านมาผมก็ผลักดันให้ภาคเอกชนรวมตัวกันและร่วมมือกัน ทั้งสมาคมการขายตรงไทย (TDSA), สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (TDIA), สมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (TSDA), สมาคมธุรกิจเครือข่ายขายตรงไทย (TDNA) และสมาคมนักการตลาดแบบตรงไทย (TDMA) และสมาคมผู้จำหน่ายอิสระ โดยแต่ในแต่ละสมาคมฯ ก็ต่างเห็นประโยชน์ในกลุ่มตนเองมากกว่าที่จะเห็นประโยชน์ส่วนรวม จึงไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร สิ่งที่ตั้งใจจะทำตั้งแต่ต้นก็ไม่สำเร็จผล ผมจึงหาหนทางที่จะทำอย่างไรให้ท่านมาจับมือกัน เพราะว่าส่วน สคบ.คงไม่สามารถทำงานสำเร็จ เนื่องจากบุคลากรมีจำนวนจำกัด เราจึงมายืนอยู่ในรูปแบบจำกัด และส่งเสริมมากกว่าที่จะไปปราบปราม เราต้องใช้การบูรณาการกับหน่วยรัฐอื่นๆ ไม่ว่าจะ ป.ป.ง. ไม่ว่าจะ DSI ทางด้านเศรษฐกิจการคลัง ด้านตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เข้ามาทำงานร่วมกัน"
นายอำพล กล่าวต่อว่า สำหรับบริษัทขายตรงเปิดใหม่มักจะเปิดทำธุรกิจสร้างเครือข่ายก่อนที่จะเข้ามาขอใบอนุญาต ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งเวลามาขอใบอนุญาตก็มักข่มขู่เรื่องระยะเวลาต่อหน่วยงานรัฐ โดยให้เหตุผลว่าเอกสารครบ รัฐต้องทำงานให้เสร็จ และออกใบอนุญาตในระยะอันสั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูก เพราะ สคบ.ต้องตรวจสอบหลายสิ่งหลายอย่าง การกระทำเช่นนี้ก็ถือว่ามีความผิด ในส่วนของกลุ่มบริษัทเก่า ขณะนี้ตนก็กำลังหาทางที่จะตรวจสอบว่า หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตจาก สคบ.ไปแล้ว ได้ปฏิบัติสิ่งต่างๆ ตามที่ยื่นมาในตอนแรกหรือไม่อย่างไร ซึ่งกลุ่มบริษัทขายตรงมักมีการปรับแผนจ่าย โดยที่ไม่แจ้ง สคบ.เพื่อดึงดูดสมาชิก หรืออาจจะกลายพันธุ์เป็นระดมทุนหรือแชร์ลูกโซ่ ส่วนนี้ถือว่ามีความผิด
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและถูกต้อง จึงได้จัดเสวนาดังกล่าวขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบถึงนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนและกำกับดูแลธุรกิจขายตรง และประสานการทำงานร่วมกัน ปีที่ผ่านมาธุรกิจขายตรงเจริญเติบโตสูงขึ้นมาก จึงต้องหารือกันว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างรายได้ให้ประชาชน มีความมั่นคงและรองรับประชาคมอาเซียนในปีหน้า ผมเป็นห่วงเรื่องการขายสินค้าออนไลน์ที่พบปัญหามากในขณะนี้ เพื่อส่งเสริมธุรกิจที่ถูกกฎหมาย สินค้ามีคุณภาพ และต้องป้องปรามการหลอกลวงประชาชน
"วันนี้ผมวางรากฐานระยะยาว แก้ไขปัญหาผมก็เข้าหาทุกสมาคม เพื่อขอความร่วมมือในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมทั้งระบบ และการจ่ายผลตอบแทนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากมีการประกอบธุรกิจที่ผิดแตกต่างไปจากที่ได้รับการจดทะเบียน นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาต และหากมีการประกอบธุรกิจในลักษณะขายตรงแอบแฝง ผู้ประกอบการท่านนั้นๆ จะต้องถูกดำเนินคดีและยึดทรัพย์ตามกฎหมาย เพราะธุรกิจขายตรง ซึ่งจะเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกภาคส่วน"
นายอำพล ยังกล่าวต่อถึงเรื่องการผลักดันในการแก้กฎหมายขายตรงใหม่ ว่า เนื่องจากขณะนี้เวลาแค่เพียง 1 ปีต้องยอมรับว่า ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนออกมาเท่าที่ควร เพราะตอนนี้มีกว่า 500 เรื่องที่รอพิจารณา น่าจะอยู่ลำดับที่ 100 กว่า ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ประธาน กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช.ควรจัดให้มีองค์กรอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยทาง สคบ.ได้เสนอให้นำกฎหมายขายตรง เสนอเข้าร่วมด้วย เพื่อความเร็วในการแก้ไขกฎหมายขายตรงด้วย
นอกจากนี้ ในการทำงานของ สคบ.หลังจากนี้จะเดินคู่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อทำงานป้องปรามตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาในแต่ละปี สคบ.จะมีเรื่องร้องเรียนมาที่หน่วยงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคประมาณ 1 หมื่นคดี แบ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับธุรกิจขายตรงประมาณ 5% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการไม่จ่ายผลตอบแทนตามที่ได้ตกลงระหว่างบริษัทกับกลุ่มนักธุรกิจอิสระ
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้แยกธุรกิจขายตรงออกมาดูแลในฐานะองค์กรส่งเสริมอาชีพด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสิ่งที่เพิ่มเข้ามาจะมีกองทุนธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง โดยจะช่วยเหลือผู้จำหน่ายอิสระที่ถูกละเมิดสิทธิ์ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตในธุรกิจด้วย