- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 11 January 2018 19:27
- Hits: 11356
ก.พาณิชย์ เผยรัฐมนตรีเศรษฐกิจกลุ่มประเทศแม่โขง–ล้านช้าง มุ่งกระชับความร่วมมือเศรษฐกิจการค้า ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 250 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 63
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิก MLC อีก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน ออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจประเทศสมาชิก MLC ในระหว่างการประชุมผู้นำ MLC เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน และให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยข้อริเริ่ม 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' ของจีนจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิก MLC
โดยปฏิญญาพนมเปญ (Phnom Penh Declaration)ที่ผู้นำ MLC 6 ประเทศ ได้ประกาศที่กรุงพนมเปญ ระบุว่าผู้นำแสดงความยินดีกับการออกแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ MLC ซึ่งแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ มีสาระสำคัญ 7 ประเด็น ได้แก่ (1) สมาชิก MLC พร้อมส่งเสริมการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินแผนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของสมาชิก เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ของไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 13 ของจีน เป็นต้น และจะร่วมจัดทำแผนพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกแม่โขง - ล้านช้าง ระยะ 5 ปี (2) ส่งเสริมการค้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้า 250 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 (จากประมาณ 190 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบัน) (3) ยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้า (4) ส่งเสริมความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แก่ธุรกิจขนาดไมโคร ขนาดกลาง และขนาดย่อม (MSMEs) (5) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุน (6) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และ (7) ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ MLC ข้างต้น จะเป็นการต่อยอดความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน อย่างรอบด้าน ตามนโยบายของรัฐบาลที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับข้อริเริ่มแถบหนึ่งหนึ่งเส้นทางของจีน และการดำเนินยุทธศาสตร์ CLMVT ของกระทรวงพาณิชย์
ด้านที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังได้มีมติ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อรับจัดสรรเงิน 1,701,800 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 59,500,000 บาท จากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง มาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับสมาชิก MLC จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน 2) โครงการพัฒนาการอำนวยความสะดวกแนวชายแดนเพื่อพัฒนาการค้าและระบบโลจิสติกส์ 3) การจัดกิจกรรมเวทีภาคธุรกิจแม่โขง - ล้านช้าง และ 4) การพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตชนบท
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) กับสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวต่อไป โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้บริหารโครงการร่วมกับ MI โดยประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นผู้บริหารโครงการเหล่านี้ คือ ผู้ประกอบการและนักธุรกิจของไทยจะได้รับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่โครงการจัดขึ้น เช่น การจับคู่ทางธุรกิจ การจัดฝึกอบรมสัมมนาในเรื่องการอำนวยความสะดวกแนวชายแดน การพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการในอนุภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่มูลค่าระหว่างประเทศสมาชิก เป็นต้น จีนได้จัดตั้งกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้างขึ้นในการประชุมผู้นำ MLC ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2559 โดยมีมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินจากจีนแล้วมี 132 โครงการ เป็นด้านเศรษฐกิจของไทย 4 โครงการ
ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการค้ากับประเทศสมาชิก MLC 5 ประเทศ รวม 94,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก และสมาชิก MLC มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ต่อปี MLC จึงเป็นอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงและน่าจับตามองอย่างยิ่ง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย.
ก.พาณิชย์ ลงพื้นที่ช่วยเกษตรกรรับมือเปิดเสรีการค้าตลาดนม CLMV พร้อมดันแบรนด์ Smile Milk เข้าธงฟ้าประชารัฐ 20,000 แห่งทั่วประเทศ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยและคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมของประเทศไทย ซึ่งในการเข้าพบครั้งนี้ นอกจากประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยจะนำคณะมาแสดงความยินดีและสวัสดีปีใหม่แล้ว ได้มาขอบคุณที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดเวทีสัญจรลงพื้นที่พบปะหารือกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สหกรณ์โคนม และผู้เกี่ยวข้องในกลุ่มอุตสาหกรรมโคนม เมื่อวันที่ 21-22 ธันวาคม 2560 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังความเห็นและความต้องการของเกษตรกรในเขตภาคเหนือ รองรับการเปิดเสรีความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์
สืบเนื่องจากที่ไทยต้องเปิดตลาดให้กับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ทุกรายการ โดยยกเลิกมาตรการกำหนดปริมาณนำเข้าและลดภาษีนำเข้าเป็น 0 ในปี 2564 และปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ได้มอบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมในภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ดังกล่าว ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จในการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะสัญจรลงพื้นที่ภาคกลางที่จังหวัดสระบุรี ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2561 และมีกำหนดจะไปที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นอกจากนี้ การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยในปี 2559 มีมูลค่าถึง 1,263.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตถึงร้อยละ 14.5 จากปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ นมปรุงแต่งยูเอชที โยเกิร์ต บัตเตอร์มิลค์ และนมข้นหวาน โดยมีตลาดอาเซียนและจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญ และยังเป็นตลาดศักยภาพที่สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก กระทรวงพาณิชย์จึงมีแผนที่จะนำผู้ประกอบการนมและผลิตภัณฑ์ของไทยที่มีความพร้อมและแสดงความสนใจจากการลงพื้นที่ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไปโรดโชว์เปิดตลาดในงานแสดงสินค้า Top Thai Brands 2018 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจัดในภูมิภาคอาเซียนและจีนตลอดปี 2561 และพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อหาช่องทางการทำตลาดให้นมไทยเป็นที่รู้จัก
โดยกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมในภูมิภาคอาเซียนและจีน เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมโคนมไทยได้มีการพัฒนาและปรับตัวไปมาก เน้นการผลิตนมที่มีคุณภาพและมาตรฐานเข้าสู่ตลาด รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม เช่น โยเกิร์ต เนย ชีส ไอศครีม ไทยจึงไม่ควรเป็นฝ่ายตั้งรับอีกต่อไป ต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาส รุกตลาดอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV และจีน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน และ FTA อาเซียน-จีน ที่ได้เปิดตลาดให้กับไทยโดยการยกเลิกภาษีนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมเหลือร้อยละ 0 ซึ่งตนเห็นว่าการขยายการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น จะช่วยเพิ่มปริมาณความต้องการน้ำนมโคดิบจากเกษตรกรในประเทศ นอกเหนือจากการผลิตเพื่อป้อนโครงการนมโรงเรียนของภาครัฐ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะยินดีที่จะเร่งรัดผลักดันให้ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยสามารถนำเครื่องหมายการค้า “Smile Milk” มาใช้ในการสร้างแบรนด์กลางสำหรับผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์โคนมทั่วประเทศเพื่อให้สามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมทั้งจะใช้เครือข่ายร้านธงฟ้าประชารัฐ 20,000 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นช่องทางในการจำหน่ายนมแบรนด์ Smile Milk รวมทั้งจะใช้ e-commerce เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย กล่าวขอบคุณที่กระทรวงพาณิชย์ได้เห็นความสำคัญของสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของเกษตรกรไทย โดยจะช่วยผลักดันการส่งออกและหาช่องทางการตลาดให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งสินค้านมเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรไทยจำนวนมาก อีกทั้งเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมให้คงอยู่จากรุ่นสู่รุ่นและมุ่งสร้างรากฐานให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความเข้มแข็ง เติบโตอย่างมั่นคง และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย