- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 03 January 2018 22:24
- Hits: 4515
พาณิชย์ คงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปี 61 ที่ 0.6-1.6% ภายใต้จีดีพีขยายตัว 3.75%,คาดเงินเฟ้อทั่วไป Q1/61 ไม่ถึง 1%
พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไป ปี 60 อยู่ที่ 0.66% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านปี 61 เชื่อเข้ากรอบล่างที่ 1% ตามที่ธปท.ประเมินไว้ โดยประเมินเงินเฟ้อทั่วไปปี 61 ที่ 0.6-1.6% ภายใต้จีดีพีขยายตัว 3.75% จากการส่งออกฟื้น พร้อมจับตาเศรษฐกิจคู่ค้า ค่าเงินผันผวน และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสแรกของปีนี้นั้น มองว่า จะยังไม่ถึง 1% แม้ว่าจะมีเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากมองว่า เงินเฟ้อในไตรมาสแรกยังมีหลายปัจจัยที่ยังต้องจับตามอง
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 101.37 เพิ่มขึ้น 0.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับลดลง 0.08% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ทั้งปี 2560 เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.66% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 มีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ที่ 0.6-1.6% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี อยู่ที่ 3.75% จากการส่งออกที่ขยายตัวสูง การใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
ด้านดันชีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 101.61 เพิ่มขึ้น 0.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ทั้งปี 2560 อยู่ที่ 0.56%
สำหรับ สาเหตุที่เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สูงขึ้นตามความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป และบุหรี่ สุรา เป็นต้น แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเงินเฟ้อทั่วไปลดลง จากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ตามการลดลงของหมวดผักและผลไม้ โดยผักสดลดลง 1.85% ผลไม้ลดลง 1.33% รวมทั้งการลดลงของไก่สด เนื้อสุกร ไข่ไก่ และข้าวสารเจ้า เป็นต้น
ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 นั้น มองว่า เงินเฟ้อปี 2561 มีแนวโน้มสูงขึ้น และจะเข้ากรอบที่ 1% ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ประมาณการไว้ โดยกระทรวงพาณิชย์มองว่า เงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 ยังคงกรอบที่ 0.6-1.6% ภายใต้สมมติฐานจีดีพีอยู่ในกรอบ 3.5-4% หรือค่ากลางที่ 3.75% ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ระดับ 55 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคขยายระยะเวล่าการปรับลดกำลังการผลิต เพื่อให้ตลาดน้ำมันกลับเข้าสู่จุดสมดดุล ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐปรับลดลง และความต้องการใช้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากเศรษฐกิจของสหรัฐที่คาดว่าจะปรับตัวดี น่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัฐ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสแรกของปีนี้นั้น มองว่า จะยังไม่ถึง 1% แม้ว่าจะมีเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากมองว่า เงินเฟ้อในไตรมาสแรกยังมีหลายปัจจัยที่ยังต้องจับตามอง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นโยบายแจกบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลนั้น ถือว่ามาถูกทาง และมองว่าในปีนี้ รัฐบาลจะเข้ามาดูแลในเรื่องราคาสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม หลังจากปีที่ผ่านมา ราคาค่อนข้างผันผวน จากภัยธรรมชาติรุนแรง ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าค่อนข้างมาก ทำให้ปีที่ผ่านมาพบว่า ราคาอาหารผันผวนทั้งปี
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย