- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 03 January 2018 06:58
- Hits: 5089
ก.พาณิชย์ขานรับนโยบาย'สมคิด'ดันยุทธศาสตร์หุ้นส่วนศก.ไทย-จีน ชูธง'ผลไม้'นำร่องสินค้าเกษตร
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11-13 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา กรมในฐานะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะผู้แทนภาคเอกชน นำโดยหอการค้าเชียงใหม่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และล่าง 1 จันทบุรี ตราด และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำรวจช่องทางขยายตลาดผลไม้ไทยในจีนตอนล่าง ตามเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road)
การเยือนครั้งนี้ มีจุดประสงค์ในการขยายความสัมพันธ์ด้านการค้าผลไม้ และสำรวจความพร้อมของ ด่านนำเข้าสินค้าทางบกตามแนวชายแดนจีน-เวียดนาม ซึ่งกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการนำเข้าสินค้าจากอาเซียน นอกจากนี้ ยังถือเป็นการสานต่อผลการเยือนเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้านผลไม้และโลจิสติกส์ ซึ่งจีนมีความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น เขตปลอดอากรครบวงจร (Integrated Free Trade Zone) ที่มีการจัดระบบโลจิสติกส์อย่างดีสอดคล้องต่อเนื่องกัน ด่านนำเข้า ศุลกากร คลังจัดเก็บสินค้า สำนักงานตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรค สำนักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์ โดยให้บริการในรูปแบบ One Stop Service นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน อาทิ ศูนย์แสดงสินค้า โรงแรม เป็นต้น
โดยในวันที่ 11 ธันวาคม 2560 อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมพิธีเปิดงาน China-Vietnam Border Tourism Festival ครั้งที่ 25 ณ ด่านโหย่วอี้กวาน ในเขตโบราณสถานซึ่งมีอายุกว่า 600 ปี ณ อำเภอผิงเสียง เมืองฉงจั่ว เขตกว่างซีจ้วง ซึ่งรัฐบาลอำเภอผิงเสียงจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ร่วมพิธีเปิด China-ASEAN Fruit City ซึ่งเป็นศูนย์รับและกระจายผลไม้นำเข้าจากอาเซียนอย่างครบวงจร รวมถึงการร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Play the Role Of Southward Channel to Promote the Development of China-Thailand Fruit Trade” ในงานประชุมสุดยอดตลาดผลไม้จีน-อาเซียน
ปัจจุบันด่านโหย่วอี้กวาน ณ อำเภอผิงเสียง เป็นด่านสากลที่มีปริมาณการนำเข้าผลไม้ไทยมากเป็นลำดับต้นๆ ของจีน โดยในปี 2559 จีนนำเข้าผลไม้จากไทยกว่า 5 แสนตัน คิดเป็นปริมาณการนำเข้าผ่านอำเภอผิงเสียง กว่า 3 หมื่นตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเดินงานเยือนจีนในครั้งนี้ ภาคเอกชนระหว่างไทย – จีน ยังได้มีการลงนาม MOU ด้านผลไม้ระหว่างหอการค้าเชียงใหม่ และ ASEAN Fruits Import Commerce Chamber ซึ่ง MOU ดังกล่าวจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีความมั่นใจในการซื้อ-ขาย รวมถึงสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต
นอกจากภารกิจ ณ อำเภอผิงเสียงแล้ว คณะฯ ยังได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมท่าเรือชินโจว ณ เมืองชินโจว เขตกว่างซีจ้วง พร้อมทั้งหารือกับผู้บริหารท่าเรือฝ่ายต่างๆ ซึ่งท่าเรือชินโจวนี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการไทย ในการกระจายสินค้ามายังประเทศจีน เนื่องจากเป็นเขตปลอดภาษีครบวงจร เป็นจุดรับและกระจายสินค้า มีหน่วยคัดแยกและตรวจสอบสินค้า คลังจัดเก็บสินค้า รวมทั้งมีศูนย์แสดงสินค้าเช่นกัน ซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เชิญชวนให้ผู้แทนจากท่าเรือชินโจวเข้าร่วมงาน TILOG-LOGISTIX 2018 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพของท่าเรือแห่งนี้ให้แก่ภาคเอกชนไทยได้รับทราบอีกด้วย
ตามยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะงานเร่งด่วนงานแรกในเดือน ม.ค. 2561 ที่จะมีการเจรจาในระดับรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจไทย-จีนนั้น กรมได้ให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ทั้ง 8 แห่ง ระดมสมองเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การค้า ซึ่งจากการเดินทางเยือนนครหนานหนิงในครั้งนี้ จะเห็นได้ชัดว่า จีนได้กำหนดเมืองนี้ให้เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าผลไม้ระหว่างจีนกับอาเซียน ด้วยความพร้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกันตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน
โดยเส้นทางการขนส่งทางบกระหว่างไทย เวียดนาม จีน จะเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ที่ไทยมีความได้เปรียบในด้านคุณภาพ รสชาติ และความหลากหลาย เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน นอกจากนี้ จีนยังเพิ่มทางเลือกในการขนส่งทางเรือ คือ ท่าเรือชินโจว โดยผู้ส่งออกผลไม้ของไทยต้องคำนึงถึง 3 จุดสำคัญ คือ 1) เปรียบเทียบระยะเวลาในการขนส่งกับบริษัทโลจิสติกส์ 2) การรักษาคุณภาพ ความสดของผลไม้ 3) การผลิตสินค้าที่ปลอดสารพิษ เพราะจีนให้ความเข้มงวดกับสินค้าที่จะนำเข้าไปขาย ซี่งจากการเดินทางเยือนจีนในครั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าจากจีนได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน เป็นการเปิดโอกาสให้เราเห็นแนวทางในการต่อยอดพัฒนาสินค้าได้ สำหรับกรมในฐานะผู้แทนภาครัฐ ก็ได้ร่วมเจรจากับผู้แทนของจีนในการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะด้าน โลจิสติกส์ ซึ่งทางการจีนก็ยินดีให้ความร่วมมือ กรมเชื่อว่าสินค้าผลไม้จากไทยจะสามารถส่งออกไปยังจีนผ่านเส้นทางการค้านี้ได้มากขึ้นในอนาคต
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
พาณิชย์ เผยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติแบบไทยได้รับความนิยมอย่างสูงในจีน คาดปีหน้าแนวโน้มสดใส หลังชะลอตัวกว่า 5 ปี
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่จีน ทำการสำรวจตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยในตลาดจีน ซึ่งพบว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อของไทยเป็นที่ชื่นชอบและเป็นที่นิยมของชาวจีนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรสต้มยำ แกงเขียวหวาน และเย็นตาโฟ เป็นต้น โดยสามารถหาซื้อได้ในซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำของจีนและการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์
ทั้งนี้ ในการผลักดันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจาะตลาดจีน ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันได้หันมาใส่ใจในด้านโภชนาการและสุขภาพ ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบเดิมๆ จำหน่ายได้ลดลง และไม่เป็นที่นิยม แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ได้มีการยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน ลดการใช้น้ำมัน เพิ่มส่วนผสมจากธรรมชาติในเครื่องปรุง ลดปริมาณเกลือ หรือปรับสูตรใหม่ หรือการพัฒนาเส้นบะหมี่ที่แตกต่างกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
"ที่ผ่านมา ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีน มีการชะลอตัวลง เพราะผู้บริโภคได้หันมาใส่ใจในด้านโภชนาการและสุขภาพ จึงลดปริมาณการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลง แต่มาระยะหลัง ผู้ผลิตได้หันมายกระดับคุณภาพของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อพัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค จึงทำให้ตลาดกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากที่เคยชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกันมากว่า 5 ปี และยังคาดว่าในปี 2561 ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็จะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง" นางจันทิรากล่าว
พร้อมย้ำว่า การขยายตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีน ผู้ผลิตของไทยต้องมีการพัฒนาด้านคุณภาพและเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและช่างเลือกมากขึ้น ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้ไทยยังคงสามารถรักษาตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งควรจะศึกษาช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ที่พบว่ามีการเติบโตสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
อินโฟเควสท์