- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 23 December 2017 18:39
- Hits: 7222
สหรัฐฯ ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยออกจาก บัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเพิ่มเติมหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301)จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อภาพลักษณ์และ ความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของประเทศในสายตาของผู้ค้าและนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนธุรกิจปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยหลุดพ้นจากบัญชี PWL เนื่องจากสหรัฐฯ ตระหนักถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการกำหนดนโนบายในการพัฒนาด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามการละเมิดในท้องตลาด ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทหารทั้งสามเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) สำนักงาน กสทช. กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น ดำเนินการอย่างจริงจังจนการละเมิดได้หมดสิ้นไปในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม2560 เป็นต้นมา รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อออกตรวจตราจับกุมใน 5 ย่านการค้าสำคัญ คือ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค ตลาดนัดจัตุจักร ตลาดโรงเกลือ (จังหวัดสระแก้ว) หาดป่าตอง และหาดกะรน (จังหวัดภูเก็ต)
นอกจากนี้ ไทยยังได้พัฒนาประสิทธิภาพในการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า โดยเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบ และปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน จนทำให้สามารถลดปริมาณงานค้างสะสมลงไปอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ และเสริมสร้างความโปร่งใสโดยการหารือรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียของสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) เป็นประจำ ซึ่งช่วยคลายความกังวลของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องลงไปได้มาก
นายสนธิรัตน์ฯ เน้นย้ำว่า การปรับสถานะของไทยออกจากบัญชี PWL จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของประเทศ เนื่องจากการจัดสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 301 พิเศษ เป็นสิ่งบ่งชี้ (benchmark) สำคัญที่บ่งบอกถึงระดับความเข้มข้นในการให้ความคุ้มครองและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าที่ได้รับการจัดสถานะ ซึ่งส่งผลต่อ
การตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไม่เฉพาะแต่นักลงทุนสหรัฐฯ เท่านั้น ทั้งนี้ ในปี 2559 มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จำนวน 199 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการลงทุนจากสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 7.4 คิดเป็นมูลค่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นด้วย โดยเฉพาะการผลิตและการจำหน่ายวัตถุดิบและการจ้างงาน
อนึ่ง ในปี 2560 (มกราคม-กันยายน) มีโครงการต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม มูลค่ารวม 116,274 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต 3 อันดับแรกประกอบด้วย ยานยนตร์ คิดเป็นมูลค่า 32,429 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่า 26,988 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นมูลค่า 26,729 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
นอกจากนี้ การปรับสถานะในครั้งนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่สหรัฐฯ พิจารณาในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP ซึ่งสหรัฐฯ ให้แก่ประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงไทยด้วย โดยในปี 2560 (เดือนมกราคม – กันยายน) ไทยมีมูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ไปยังสหรัฐฯ 4,245 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP 3,098 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ GSP ถึงร้อยละ 72.98 สินค้าสำคัญที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และส่วนประกอบยานยนต์ เป็นต้น
สิ่งสำคัญในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญายังช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์และนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น ในปี 2558 อุตสาหกรรมคอนเทนต์ (ประกอบด้วยภาพยนตร์ แอนิเมชั่น เพลง เกมส์ โทรทัศน์) ของไทย มีมูลค่า 253 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีมูลค่า 197 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 28 นอกจากนี้ มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสื่อคอนเทนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.3 เท่า หรือจาก 24,000 ล้านบาท ในปี 2554 เป็น 56,000 ล้านบาท ในปี 2558 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศที่อาศัยทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในครั้งนี้นอกจากเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในระดับนโยบายแล้ว ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันมาอย่างเข้มแข็ง และเชื่อมั่นว่าจะมีการบูรณาการการทำงานเช่นนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ พัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยและการปรับสถานะของไทยออกจากบัญชี PWL จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ก่อให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และที่สำคัญช่วยส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อน สอดคล้องกับนโยบาย “Thailand 4.0”