- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 23 December 2017 18:37
- Hits: 7135
ไทยแข็งขันนำกลุ่ม GSP Alliance บุกรัฐสภามะกันผลักดันต่อสิทธิ GSP
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน (สพต.วอชิงตัน) ในฐานะประธานกลุ่ม GSP Alliance ที่มีประเทศสมาชิกที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences: GSP)
นำคณะผู้แทนประเทศสมาชิกเข้าพบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมาธิการต่างๆของรัฐสภาสหรัฐฯเพื่อหารือและโน้มน้าวให้สหรัฐฯต่ออายุสิทธิ GSP ที่จะหมดอายุ ลงในสิ้นปีนี้โดยระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สพต.วอชิงตันได้นำกลุ่ม GSP Alliance ในการพบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ US Senate Committee on Finance และ US House of Representatives Committee on Ways and Means ของทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ House Republican Majority Leaderเพื่อให้ข้อเท็จจริงและโน้มน้าวให้พิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP ซึ่งกลุ่ม GSP Alliance ได้ยกประเด็นหลักในการหารือกับฝ่ายสหรัฐฯ ได้แก่ (1) การต่ออายุสิทธิ GSP ให้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และ (2) การต่ออายุสิทธิทันทีหลังจากวันหมดอายุ (31 ธันวาคม 2560) โดยไม่ให้เกิดการขาดช่วง
จากการหารือทั้งหมด 5 ครั้ง ฝ่ายสหรัฐฯเห็นสัญญาณที่ดีสำหรับการต่ออายุสิทธิ GSP ในปีนี้ โดยการต่ออายุอาจอยู่ในรูปแบบของการรวมโครงการ GSP ไปกับการประกาศใช้กฎหมาย Miscellaneous Tariff Bill (MTB) หรือ การรวมโครงการ GSP ไปกับการประกาศกฎหมายงบประมาณหลักๆของสหรัฐฯ ซึ่งทั้ง 2 หลักการจะต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯภายในสิ้นปี 2560 นี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับระยะเวลาการต่ออายุสิทธิ GSP ที่สมาชิก Alliance ประสงค์ให้มีการต่ออายุเป็นเวลา 3 ปีนั้นยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากสหรัฐฯยังต้องคำนวณและจัดสรรงบประมาณที่จะใช้สำหรับโครงการฯ ซึ่งมูลค่าของการให้สิทธิ GSP ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี
นางนันทวัลย์ฯ กล่าวเสริมว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯจะประกาศการต่ออายุโครงการ GSP ภายในสิ้นปีนี้ หากไม่มีปัจจัยอื่น เนื่องจากขณะนี้รัฐสภาสหรัฐฯมีภารกิจเร่งด่วนในการผ่านกฎหมาย Tax Reform อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมาธิการทั้งสองคณะต่างเชื่อว่าโครงการ GSP เป็นประโยชน์ในลักษณะ win-win กับทุกฝ่าย โดยการขาดช่วงของโครงการ GSP ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2556 ถึงเดือนมิถุนายน 2558 ส่งผลให้ทุกฝ่ายมองเห็นการเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในครั้งนี้จึงพยายามให้มีการต่ออายุในลักษณะต่อเนื่องและนานกว่าหนึ่งปี และเห็นด้วยกับประโยชน์ในภาคการลงทุนของสหรัฐฯตามที่กลุ่ม GSP Alliance ได้กล่าว ซึ่งมีการกระจายไปตามมลรัฐต่างๆ นอกจากนี้ สหรัฐฯยังได้ประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ได้รับสิทธิฯมาร่วมใน supply chain ในสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการสหรัฐฯจะได้นำเข้าวัตถุดิบและสินค้าราคาถูกลงจากแหล่งนำเข้าที่หลากหลายแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการจ้างงานภายในสหรัฐฯซึ่งเป็นนโยบายหลักของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ด้วย
กลุ่ม GSP Alliance เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2554 ของประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 27 ประเทศจากประเทศที่ได้รับสิทธิ 120 ประเทศโดยมีไทยเป็นผู้นำ และมีการพบปะกันอยู่เสมอเพื่อร่วมมือกันให้ได้รับการต่ออายุสิทธิ GSP อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้าส่งออกได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้ามาในสหรัฐฯ และมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ