- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 23 December 2017 13:02
- Hits: 3005
ไทย-จีน จับมือเดินหน้าโครงการ EEC หารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบด้าน ต้นปี 2561
ประเทศไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 6 (Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และมนตรีแห่งรัฐ (นายหวาง หย่ง) เป็นประธานร่วม ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2561 ณ กรุงเทพฯและในโอกาสนี้จะมีภาคเอกชนจีนเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา หารือโอกาสในการลงทุนใน EEC และการจับคู่ทางธุรกิจด้วย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุม JC เศรษฐกิจ เป็นกลไกการหารือทวิภาคีระดับสูง (รองนายกรัฐมนตรี) ระหว่างไทย-จีน ซึ่งไทยและจีนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งไทยและจีนได้สลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง สำหรับการประชุม JC เศรษฐกิจ ครั้งที่ 6 นี้ จะเน้นการหารือยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องเกื้อหนุนกัน และหารือทิศทางการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และชีวภาพ เป็นต้นซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นการเกษตรสมัยใหม่ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็น Smart Farmer และการใช้ประโยชน์จากการขายสินค้าผ่านช่องทาง e-Commerce
นายสนธิรัตน์ กล่าวเสริมว่า ยุทธศาสตร์'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง'(Belt and Road Initiative) ของรัฐบาลจีน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์“ประเทศไทย 4.0” และ “นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)” ของไทย ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม แต่จะเชื่อมโยงด้านดิจิทัล การยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยใช้จุดแข็งของกันและกันมาเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับไทยและจีน เพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันในระยะยาว
ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรมการหารือระดับสูงของภาครัฐไทย-จีน การลงนามบันทึกความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทย-จีนแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงาน EEC จัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับภาคเอกชนจีนที่จะเดินทางมากับคณะทางการของจีน อาทิ การสัมมนา “Thailand – PRC : Strategic Partnership through Belt and Road Initiative and the EEC”กิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ และกิจกรรมการดูงานเยี่ยมชมพื้นที่ EEC เพื่อเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน
ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 15 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2559 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 65.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2560 (ม.ค.-ต.ค.) การค้ารวมระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
การรายงานชี้แจงประเด็นข่าว : การรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ในกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2560
สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ขอรายงานชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ในกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงประเด็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แก้ไขร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีข้อเสนอ 4 ข้อ ดังนี้
1) ในชั้นการพิจารณาของรัฐสภาควรจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้เสียจากร่างกฎหมายดังกล่าว ในระดับพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิชาการและภาคประชาชนเสนอความเห็น ข้อกังวล เป็นรายมาตราอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเพื่อประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน
2) รัฐสภาควรพิจารณาแก้ไขมาตรา 36 ของร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากเป็นการเข้าใช้ประโยชน์เพื่อการอื่น นอกจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ควรดำเนินการเท่าที่จำเป็นและต้องดำเนินการด้วยวิธีการเพิกถอนที่ดินบริเวณนั้นจากการเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย และชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และ
3) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37 มาตรา 43 เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการอนุมัติ อนุญาต หรือการอื่น จะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น
4) เสนอคณะรัฐมนตรีควรกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจัดทำผังเมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามคำสั่ง คสช.ที่ 2/2560 เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 ให้พิจารณาด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและสอดคล้องกับหลักการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ หลังปี 2558-2573
โดยในข้อเสนอ 1)-3) เป็นข้อเสนอที่จะส่งให้รัฐสภา ส่วนข้อ 4) จะเสนอคณะรัฐมนตรี โดย กสม.จะทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2560
1. EEC เป็นนโยบายสำคัญของประเทศที่จะผลักดันการพัฒนาประเทศ และเป็นตัวอย่างของการพัฒนาประเทศที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน
อย่างที่ทราบกันว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนา EEC ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งต่อไปจะพัฒนาไปเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นแกนนำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ การพัฒนา EEC เป็นตัวอย่างการบูรณาการการพัฒนาที่คำนึงถึงการต่อเนื่องเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การ zoning การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการจัดวางตำแหน่ง สถานประกอบการ และตำแหน่งการจัดวางระบบสาธารณูปการที่เหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน ประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบกิจการ รวมทั้งการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ซึ่งแน่นอนประชาชนในพื้นที่จะมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นจากการพัฒนาที่เป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการต่างๆ ใน EEC เป็นการต่อยอดจากการพัฒนาโครงการที่มีอยู่เดิม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคำนึงถึงการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยถือว่าการพัฒนา EEC เป็นกลไกขับเคลื่อน ‘ประเทศไทย 4.0’ แบบก้าวกระโดด และเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการสร้าง การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างระบบการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงสู่คนไทย ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม
สำหรับ ข้อสังเกตเรื่องการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมและแผนผัง ในกระบวนการทำงานจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการดำเนินการต่างๆ ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ซึ่งมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบ อีกทั้งในส่วนของคำสั่ง คสช. 47/2560 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เรื่องข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนเสมอ
ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของภาคประชาชน สกรศ. ได้มีการรับฟังความคิดเห็นหลายๆ ช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เว็บไซต์สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ตั้งแต่เริ่มต้น และยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ไม่น้อยกว่า 11 ครั้ง
2. ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....
ในกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ...ซึ่งเข้าสู่กระบวนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ของ คณะรัฐมนตรีถึง 3 ครั้ง นั้นแสดงถึงการให้ความสำคัญในทุกประเด็น ทุกมิติ อย่างรอบคอบ รัดกุม ของทุกภาคส่วน ถึงแม้ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษ ซึ่งกรรมการทุกท่านพิจารณาร่วมกันอย่างรอบครอบทุกมิติ โดยมิได้มีการเร่งรัดหรือละเลยในทุกประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....ได้ดำเนินการตามตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ทุกประการ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนตามช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่นประชุมร่วมกับหน่วยงานเจ้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติ ผ่านสื่อออนไลน์ ประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนจังหวัด/ภาคเอกชน/ประชาชนในพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่องทุกจังหวัด ถึงแม้ก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญฯประกาศใช้ กระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้เสียจากร่างกฎหมายมาตลอด อีกทั้งนำข้อคิดเห็นมาปรับใช้ในขณะที่พิจารณาพระราชบัญญัติในชั้นกฤษฎีกา
3. ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการพัฒนา EEC
ในการพัฒนา EEC เป้าหมายที่สำคัญคือประชาชนในพื้นที่มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการยกระดับรายได้ให้ใกล้เคียงกับกรุงเทพ ด้วยสภาพชีวิตที่ดีกว่า มีเมืองที่น่าอยู่ที่ดีกว่า อาทิ
o โอกาสมาถึงบ้าน-รายได้มาถึงตัว งานดีมีมากขึ้นเป็นโอกาสใหม่ให้เยาวชน
o ลูกหลานไม่ต้องออกนอกพื้นที่เพื่อ หาสถานศึกษาที่ดีขึ้น หางานที่ดีขึ้น ทำให้สามารถอยู่ได้กับพ่อแม่เป็นครอบครัวอบอุ่น
o ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลที่ดีมีคุณภาพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
o มีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมที่ดี จากโครงการลงทุน และการท่องเที่ยวมีเส้นทางคมนาคมที่ดีขึ้น
o มีกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน หากประชาชนได้รับผลกระทบรัฐจะให้การดูแลอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยมีการตั้งกองทุนขึ้นมาโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานฯ ยินดีให้ข้อมูลตอบข้อซักถามเพิ่มเติม โดยให้ติดต่อได้ที่ 0-20338000