WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOCชตมา บณยประภศรพาณิชย์ เผย EU พิจารณารื้อฟื้นเจรจา FTA กับไทย หลังชะลอไปเมื่อปี 57

     น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.60 คณะมนตรีการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ลงมติให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับ รวมถึงการเจรจา FTA ไทย-อียู โดยให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเจรจากันต่อภายหลังการเลือกตั้งของไทย

      "การออกแถลงการณ์มติของอียูครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการสานต่อความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและอียู หลังจากฝ่ายอียูระงับการเยือนไทยของผู้แทนระดับสูงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557" รมช.พาณิชย์กล่าว

      พร้อมระบุว่า มติของคณะมนตรีการต่างประเทศของอียูครั้งนี้ สะท้อนถึงพัฒนาการทางการเมืองที่ดีขึ้นของไทย และความสนใจของอียูที่ชื่นชมบทบาททางเศรษฐกิจของไทยในอาเซียน ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานในกรอบความสัมพันธ์อาเซียน-อียู จึงเห็นควรเริ่มรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างเป็นทางการกับไทยได้ในทุกระดับอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเจรจา FTA ไทย-อียู หลังจากที่ไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

      อย่างไรก็ดี ในข้อมติดังกล่าวระบุว่า อียูจะติดตามและให้ความสำคัญกับการจัดการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2561 สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็นของไทย

      สำหรับ การเจรจา FTA ไทย-อียู ได้เจรจาครั้งแรกเมื่อ 2556 และได้ชะลอการเจรจาหลังเจรจาแล้ว 4 ครั้ง เมื่อเดือนเมษายน 2557 ซึ่งมติของคณะมนตรีการต่างประเทศของสหภาพยุโรปที่มอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณารื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู เป็นการส่งสัญญาณที่ดีและอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งสองฝ่ายเตรียมการหารือแนวทางเจรจา FTA ระหว่างกันต่อไป

      นอกจากนี้ จากการพบปะกับสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศและภาคเอกชนของอียูและไทย ต่างก็พร้อมสนับสนุนให้ไทยและอียูได้เริ่มการหารือระดับเทคนิคอีกครั้ง ซึ่งคณะเจรจาระดับเทคนิคของฝ่ายไทยได้แสดงความพร้อมหารือเมื่ออียูพร้อมหารือกับไทย

      น.ส.ชุติมา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามพัฒนาการของอียูในการจัดทำ FTA หรือข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมของไทยเมื่ออียูพร้อมจะรื้อฟื้นการเจรจา FTA โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้เดินหน้าปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่สำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย อาทิ กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรมด้วย

     ทั้งนี้ การเจรจา FTA กับอียูถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากการเจรจาไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่การลดภาษีนำเข้าสินค้า แต่จะมีประเด็นอื่นที่เชื่อมโยงกับการค้าซึ่งไทยคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งหากการเจรจา FTA มีความคืบหน้าสามารถหาข้อสรุปได้ คาดว่าจะช่วยดึงดูดการลงทุน และทำให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น

       อนึ่ง ภายหลังจากการเจรจา FTA ไทย-อียู ชะลอไปเมื่อปี 2557 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและอียูมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี ในระยะหลังได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยอียูเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของไทย ในปี 2559 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 40,133 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 22,044 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 18,089 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านการลงทุน ในปี 2559 สหภาพยุโรปมีการลงทุนในไทย 6,731 ล้านเหรียญสหรัฐ

      อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!