- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 08 December 2017 07:02
- Hits: 6201
พาณิชย์ ร่วมประชุม WTO ครั้งที่ 11 ที่อาร์เจนตินา เร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้า WTO ให้โปร่งใส เป็นธรรม
พาณิชย์ ร่วมประชุมWTO ครั้งที่ 11 ที่อาร์เจนตินา เร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้า WTO ทั้งกฎระเบียบการค้าสินค้าเกษตร - ประมง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสนับสนุน SME การขยายเวลาการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรกับการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาร์เจนตินาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 11 (The Eleventh Ministerial Conference) หรือ MC 11 ระหว่างวันที่ 10 – 13 ธันวาคม 2560 ณ กรุงบัวโนสไอเรส โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) มอบเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ) เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม เพื่อร่วมเจรจาผลักดันประเด็นสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของไทย รวมถึงการจัดทำกฎเกณฑ์การค้าสินค้าเกษตร การอุดหนุนประมง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นางอรมน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ผู้แทนระดับรัฐมนตรีของสมาชิก WTO 164 ประเทศ ได้พบหารือติดตามความคืบหน้าของการเจรจารอบโดฮา (Doha Development Agenda: DDA) และผลักดันให้การเจรจาซึ่งดำเนินมากว่า 16 ปี คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยการหารือจะครอบคลุมหลายประเด็น เช่น เรื่องการจัดทำกฎระเบียบการค้าสินค้าเกษตร กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอุดหนุนประมง การกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านการค้าบริการ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย การขยายเวลาการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรกับการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic transmissions) และการต่ออายุ การยกเว้นการฟ้องร้องกรณีพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา แม้สมาชิกจะไม่ได้กระทำผิดความตกลง เป็นต้น
นางอรมน กล่าวเสริมว่า การประชุม MC 11 จัดขึ้นในช่วงที่การค้าโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์และการปกป้องทางการค้า จึงเป็นการร่วมมือกันของสมาชิก WTO ที่จะแสดงความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคี ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ไทยได้ผลักดันผลการประชุมไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับประเทศ โดยไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลก จะร่วมกับกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตร (กลุ่มเครนส์) สนับสนุนให้สมาชิก WTO ลดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรที่บิดเบือนการค้า เพื่อทำให้การแข่งขันในตลาดโลกมีความเป็นธรรมมากขึ้น และไทยยังสนับสนุนให้สมาชิก WTO ยกเลิกการอุดหนุนประมงที่ก่อให้เกิดการทำประมงเกินขนาด เกินศักยภาพการผลิต และการอุดหนุนประมง IUU ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยให้คงการปฏิบัติที่พิเศษและแตกต่างแก่ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564
การประชุม MC เป็นกลไกการตัดสินใจระดับสูงสุดของ WTO ซึ่งจัดประชุมทุก 2 ปี เพื่อให้รัฐมนตรีสมาชิก WTO ได้ร่วมกันทบทวนการทำงานของ WTO และมีข้อตัดสินใจในเรื่องสำคัญ โดยในการประชุม MC 9 ที่ประชุมประสบความสำเร็จในการจัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement) และในการประชุม MC 10 ประสบความสำเร็จในเรื่องการยกเลิกการอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตร สำหรับในการประชุม MC 11 มีความเป็นไปได้สูงที่ผลการประชุมจะผนวกเร่งขยายเวลาการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรกับการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และการต่ออายุ การยกเว้นการฟ้องร้องกรณีพิพาทเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แม้มิได้มีการละเมิดความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา จนถึงการประชุม MC ครั้งหน้า (ครั้งที่ 12)
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย