- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 05 December 2017 10:59
- Hits: 4961
พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกจับมือพันธมิตรท้องถิ่นทำตลาดสินค้าเครื่องประดับคุณภาพขยายช่องทางตลาดในจีน
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่ประเทศจีนสำรวจตลาดเครื่องประดับในจีน ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ที่เมืองเซี่ยเหมินว่า ขณะนี้ตลาดเครื่องประดับในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปิดร้านใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ต่างประเทศ และกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางได้ให้ความสำคัญกับการซื้อเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น
"จีนเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับเครื่องประดับแบรนด์ต่างชาติเนื่องจากตลาดใหญ่ ประชากรมีกำลังซื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสดีที่แบรนด์เครื่องประดับจากไทยจะมองหาลู่ทางในการขยายตลาดเข้าสู่ตลาดจีน โดยการเข้าสู่ตลาด ต้องหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับผู้ผลิตจีนในตลาดระดับล่าง ควรมุ่งพัฒนาและวางตำแหน่งสินค้าในระดับกลางถึงระดับสูง เนื่องจากยังมีช่องว่างให้ทำตลาด และต้องทำตลาดให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า" นางจันทิรา กล่าว
สำหรับ ลู่ทางในการเข้าสู่ตลาดนั้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกจะต้องเน้นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ค้าจากจีน เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าสู่ตลาด และควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติทั้งในไทยและจีน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่เครื่องประดับ ซึ่งจะช่วยให้เครื่องประดับสามารถขยายตลาดเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการส่งออกเครื่องประดับเข้าสู่ตลาดจีนจะต้องคำนึงถึงการกำหนดราคาจำหน่าย เพราะเครื่องประดับที่จะส่งไปจำหน่ายในจีน ต้องจ่ายภาษีนำเข้าอัตรา 0-35% ภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 17% และภาษีบริโภคสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย 5-10% ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นทุนของเครื่องประดับไทย ดังนั้นจึงควรกำหนดราคาให้เหมาะสม และวางตำแหน่งสินค้าให้อยู่ในระดับกลางถึงสูง
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในการประชาสัมพันธ์เครื่องประดับไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวจีน กรมฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ จะใช้จุดเด่นจากการที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีน ที่แต่ละปีเดินทางเข้ามาไทยเป็นจำนวนมาก โดยจะใช้จุดเด่นเรื่องพลอยสี การออกแบบ การดีไซน์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความประณีต รวมทั้งการสร้างเรื่องราวให้กับเครื่องประดับเพื่อเป็นจุดขาย และแนะนำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนรู้จักและคุ้นเคยกับเครื่องประดับไทย ซึ่งจะทำให้เพิ่มโอกาสในการจำหน่ายเครื่องประดับ และการทำตลาดเครื่องประดับของไทยในจีนเพิ่มขึ้นด้วย
อนึ่ง กรมฯ ได้ผนึกกำลังร่วมกับภาคเอกชน อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าไทย, สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย, สมาคมเครื่องถมและเครื่องเงินไทย, สมาคมช่างทองไทย, สมาคมเพชรพลอยเงินทอง, สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จ.จันทบุรี เป็นต้น เตรียมความพร้อมในการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (Bangkok Gems and Jewelry Fair) ครั้งที่ 61 โดยกำหนดระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
อินโฟเควสท์
พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ เร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษฯ GSP ก่อนหมดอายุ
รายงานข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งว่า สำนักงานพาณิชย์ฯ ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะประธานกลุ่ม GSP Alliance ร่วมกับผู้แทนประเทศสมาชิกที่ได้รับสิทธิพิเศษฯ GSP (ไทย กัมพูชา เอกวาดอร์ อียิปต์ โบลีเวีย และฟิลิปปินส์) ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมาธิการต่างๆ ของรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ต่ออายุสิทธิพิเศษฯ GSP ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และทราบว่าฝ่ายสหรัฐฯ น่าจะผนวกกฎหมายการต่ออายุสิทธิพิเศษฯ GSP เป็นในรูปแบบ Large trade package โดยอาจรวมอยู่กับ Miscellaneous Tariff Bill Act of 2017 ที่มีกำหนดประกาศภายในสิ้นปี 2560 นี้ ดังนั้นการต่ออายุโครงการ GSP มีความเป็นไปได้สูงที่จะประกาศภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ก่อนที่โครงการ GSP ปัจจุบันจะหมดอายุลง
สำหรับ ระยะเวลาการต่ออายุสิทธิพิเศษฯ GSP ที่กลุ่ม GSP Alliance อยากให้มีการต่ออายุเป็นเวลา 3 ปีนั้นยังคงไม่มีความชัดเจน เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่แน่ใจว่าจะหางบประมาณจากส่วนไหนมาสนับสนุนการให้สิทธิพิเศษฯ GSP ได้นานถึง 3 ปี อย่างไรก็ตามจะต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าจะพิจารณาการต่ออายุโครงการได้นานเท่าใด
โดยสหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษฯ GSP แก่ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดทั้งหมด 120 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย โดยให้สิทธิพิเศษฯ GSP สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ประมาณกว่า 3,500 รายการ เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง และอาหารปรุงแต่ง เป็นต้น ซึ่งในปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) ประเทศไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิพิเศษฯ มากเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20.05 ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่า 15,453.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประเทศที่มีการใช้สิทธิพิเศษฯ GSP สูง 5 อันดับแรก คือ อินเดีย คิดเป็นสัดส่วน 26.31%, ไทย 20.05%, บราซิล 11.77%, อินโดนีเซีย 9.04% และ ตุรกี 7.70%
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ควรเร่งการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษฯ GSP ที่เป็นแต้มต่อที่ได้รับอยู่ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกไปตลาดที่ให้สิทธิพิเศษฯ GSP ให้มากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย
อินโฟเควสท์