WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC อภรด ตนตราภรณพาณิชย์ แนะผู้ส่งออกเร่งใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ส่งสินค้าไป 17 ประเทศ 1 เขตเศรษฐกิจ เพื่อลดภาษีได้เต็มที่

    นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ให้กับผู้ประกอบการถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเปิดตลาดในกรอบเอฟทีเอที่มีอยู่ 13 ฉบับ ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้ได้กับ 17 ประเทศ 1 เขตเศรษฐกิจ เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-ฮ่องกง อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น รวมทั้งการเยียวยาหรือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันมอบกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดคณะนักธุรกิจไทยเดินหน้าทำตลาดเมืองหลัก-เมืองรองในประเทศคู่ค้า เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้เอฟทีเออย่างเต็มที่

    ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ขานรับข้อสั่งการของ รมว.พาณิชย์ ที่ให้เร่งสร้างพันธมิตร การมีส่วนร่วม และสร้างความเข้าใจของทุกภาคส่วน ในเรื่องการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยในปีงบประมาณ 2561 กรมฯ มีแผนจัดสัมมนาประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในเรื่องประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากประเทศคู่ค้าลดภาษีภายใต้เอฟทีเอ ทั้งเอฟทีเอที่เจรจาเสร็จและมีผลใช้บังคับแล้ว เอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา และเอฟทีเอที่มีแผนจะเจรจา รวมทั้งจะลงพื้นที่พูดคุยกับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอเพื่อหามาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ส่วนในเดือนธันวาคมนี้มีกำหนดจัดสัมมนาเรื่องความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งเปิดตลาดกันไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ของสินค้าทั้งหมด และทั้งสองฝ่ายมีกำหนดที่จะต้องลดภาษีสินค้าที่เหลือเป็นร้อยละ 0-5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยมีแผนจะจัดร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

     นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 โดยมีสินค้าผักและผลไม้เป็นสินค้านำร่องที่ไทยกับจีนยกเลิกภาษีนำเข้าแล้วตั้งแต่ปี 2546 และทยอยยกเลิกภาษีของสินค้าที่เหลือซึ่งรวมแล้วกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดมีอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ตั้งแต่ปี 2553 ทั้งนี้การยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มผักและผลไม้ช่วยให้ไทยสามารถส่งออกมันสำปะหลังไปจีนเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 137 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2545 เป็น 1,634 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 ขณะที่ไทยนำเข้าผัก/ผลไม้ จำพวก แครอท กะหล่ำปลี แอปเปิ้ล องุ่น จากจีนจาก 36 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2545 เป็น 781 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 ในส่วนสินค้าอื่นๆ ที่ไทยได้ประโยชน์สามารถส่งออกไปจีนเพิ่มมากขึ้น เช่น ยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ประมง แผงวงจรไฟฟ้า และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ เป็นต้น ขณะที่จีนส่งส่วนประกอบและอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เหล็ก เครื่องประดับเงินมาไทยเพิ่มขึ้น

     สำหรับ รถยนต์นั่งไฟฟ้า ทั้งสองประเทศได้ลดภาษีเป็นศูนย์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งในช่วงเวลาที่เอฟทีเออาเซียน-จีน มีผลใช้บังคับเมื่อ 12 ปีที่แล้วนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์นั่งที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากกว่ารถยนต์นั่งไฟฟ้า โดยที่ผ่านมาไทยนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าจากจีนเพียง 7 คัน มูลค่ารวม 8.7 ล้านบาท

    สำหรับ สินค้าที่เหลือ ทั้งสองประเทศจะต้องลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0-5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยสินค้าของฝ่ายไทย เช่น แป้งข้าวสาลี น้ำผลไม้ โพลีเอสเตอร์ ยางรถยนต์ รองเท้ากีฬา ของเล่น กระจก ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องรับโทรทัศน์ ไมโครเวฟ แบตเตอรี่ เป็นต้น และสินค้าของฝ่ายจีน เช่น กาแฟ ใบยาสูบ ขนสัตว์ ฝ้าย ยานยนต์ ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า สับปะรดแปรรูป กระดาษ โพลีเอสเตอร์ กระปุกเกียร์สำหรับยานยนต์ และถุงลมนิรภัย เป็นต้น

    อย่างไรก็ดี ยังคงมีสินค้าบางรายการที่ทั้งไทยและจีนจะยังคงเก็บภาษีสูงต่อไป แต่อัตราจะไม่เกินร้อยละ 50 ครอบคลุมสินค้าของฝ่ายไทย เช่น สินค้าเกษตร 23 รายการ ที่มีโควต้าภาษี (เช่น นม ครีม มันฝรั่ง กระเทียม และไหมดิบ เป็นต้น) ยานยนต์และชิ้นส่วน หินอ่อน และสินค้าของฝ่ายจีน เช่น ข้าวโพด ข้าว พืชน้ำมัน น้ำตาล กระดาษด้ายใยสังเคราะห์ กระดาษแข็ง เป็นต้น

   นางอรมน กล่าวว่า การจัดทำเอฟทีเออาเซียน-จีน ทำให้ไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากจีน โดยไทยสามารถส่งสินค้าหลายรายการที่ไทยมีศักยภาพไปจีนได้เพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกของไทย ในปี 2547 ก่อนเอฟทีเอมีผลใช้บังคับ ไทยส่งออกสินค้าไปจีนมูลค่า 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2559 ไทยส่งออกเพิ่มมากขึ้นเป็น 23.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ อาทิ เม็ดพลาสติก ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไม้ แผงวรจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป และข้าว

    นอกจากนี้ ยังสามารถนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัตถุดิบจำพวกเคมี เหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ ได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยลดลง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของไทย โดยในปี 2560 (มกราคม-กันยายน) การค้าระหว่างไทย-จีน มีมูลค่า 53.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าการส่งออกของไทยไปจีน 21.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีนมูลค่า 32.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

     ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเตรียมผลักดันการส่งออกสู่ตลาดจีน ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ในปีงบประมาณ 2561 โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในเมืองต่างๆ ของจีน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู เสิ่นเจิ้น ซานโถว กวางโจว เป็นต้น การจัดกิจกรรม Roadshow และกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างโมเดิร์นต่างๆ ในเมืองสำคัญของจีน เช่น เซียะเหมิน การจัดงานแสดงสินค้าท๊อปไทยแบรนด์ (Top Thai Brand) ที่นครคุนหมิง การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาเซียน-จีนเอ็กซ์โป ที่เมืองหนานหนิง และร่วมกับเว็บไซต์ชื่อดังของจีนจัดทำกิจกรรมออนไลน์ เพื่อสร้างความรู้จักสินค้าไทยสู่สายตาผู้บริโภคชาวจีน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าราคาต่ำเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ สามารถขอคำปรึกษาได้จากกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด โดยปัจจุบันไทยมีการเก็บภาษีเอดี (AD)  ตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ยางในรถจักรยานยนต์จากจีน เป็นต้น รวมทั้งสามารถขอรับคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อการเยียวยาและปรับตัวต่อไป

  อินโฟเควสท์ 

ก.พาณิชย์เผย 11 เดือนแรกไทยส่งออกข้าวแล้ว 10.2 ล้านตันเกินเป้าหมาย ด้านบังกลาเทศซื้อข้าวนึ่งไทย 1.5 แสนตันส่งมอบธ.ค.นี้

       นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เผยตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2560 ไทยส่งออกข้าวรวมทั้งสิ้นปริมาณ 10.2 ล้านบาท มูลค่าประมาณ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.5 แสนล้านบาท โดยเป็นระดับที่เกินเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลบังกลาเทศอนุมัติการซื้อข้าวนึ่ง 5% จากไทย ด้วยปริมาณ 1.5 แสนตัน และคาดว่าจะส่งมอบข้าวได้ราวเดือนธันวาคมปีนี้  ซึ่งน่าจะช่วยผลักดันยอดการส่งออกข้าวไทยในปี 60 ให้ทะลุเป้า 10 ล้านตัน

     โดย เมื่อวันที่ 14 พ.ย.60 กระทรวงอาหารบังกลาเทศ มีหนังสือแจ้งว่า กระทรวงกฎหมายได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบังกลาเทศแล้ว และขณะนี้  ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเสนอประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติการทำสัญญา

     ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์คาดการส่งออกข้าวของไทยปีนี้ น่าจะสูงถึง 11 ล้านตัน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 10 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการซื้อข้าวในตลาดโลกที่มีมากขึ้น รวมทั้งแรงกดดันเรื่องสต็อกข้าวในประเทศที่ลดลง หลังรัฐบาลเร่งระบายข้าวในสต๊อกออกไปเกือบหมดแล้ว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!