- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 19 November 2017 12:57
- Hits: 4166
ก.พาณิชย์ เผยคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถกอนาคต AEC ระบุเน้นย้ำให้ความสำคัญผู้ประกอบการรายย่อย
ก.พาณิชย์ คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ปลื้มผลการเดินหน้าตามพิมพ์เขียวก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 พร้อมรับรอง 23 แผนงานต่อยอดจากมาตรการเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน เน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ MSMEs ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และนวัตกรรม
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการหารือของคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการหารือครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อปลายปี 2558 ซึ่งไทยได้กล่าวเน้นย้ำในที่ประชุมว่าอาเซียนต้องให้ความสำคัญของการเสริมสร้างผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย หรือ MSMEs ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในขณะนี้ และดำเนินการแก้ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีอย่างจริงจัง เพื่อให้การค้าภายในอาเซียนขยายตัวได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ได้หารือความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) ซึ่งที่ประชุม AEC Council ได้รับรองแผนงานรายสาขา (Sectoral Work Plans) ได้ครบถ้วนทั้ง 23 แผนงาน โดย 3 แผนงานสุดท้ายที่ได้รับรอง คือ (1) แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าลงร้อยละ 10 ภายในปี 2563 และเพิ่มมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่า ภายในปี 2568 (2) แผนการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินเพื่อส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในภูมิภาค และ (3) แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านภาษีอากร ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการด้านภาษีอากร เช่น การสนับสนุนการดำเนินการเพื่อจัดทำความตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนให้แล้วเสร็จ การขยายขอบเขตโครงสร้างภาษีหัก ณ ที่จ่าย การปรับปรุงการปฏิบัติงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งแผนงานดังกล่าวเป็นแผนงาน/กิจกรรมที่จะดำเนินการนับจากนี้จนถึงปี 2568 รวมทั้งที่ประชุมครั้งนี้ได้รับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยนวัตกรรม ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการใช้นวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโต และการแข่งขันของอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค โดยเอกสารดังกล่าวจะเสนอต่อผู้นำอาเซียนให้ความเห็นชอบภายในการประชุมผู้นำอาเซียนในครั้งนี้
ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบรายงานของ AEC Council ต่อผู้นำอาเซียน ซึ่งมีข้อเสนอให้ผู้นำอาเซียนพิจารณา ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรรายสาขา และเสาหลักของประชาคมอาเซียน การให้ประเทศสมาชิก RCEP แสดงความยืดหยุ่นและปรับระดับความคาดหวัง เพื่อให้การเจรจาความตกลง RCEP บรรลุผล และการหารือในระดับนโยบายทั้งภายในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเอง และระหว่าง 3 เสา เพื่อมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ครอบคลุมทุกภาคส่วน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จของฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียนที่ได้ผลักดันประเด็นสำคัญให้บรรลุผลสำเร็จ เช่น การวัดผลสัมฤทธิ์ของมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน กรอบการดำเนินงานเพื่อให้ธุรกิจรายเล็กและรายย่อยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก การส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีและเยาวชน การปรับปรุงกฎระเบียบการจดทะเบียนธุรกิจของสมาชิกอาเซียนให้สอดคล้องกัน การจัดกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่าง MSMEs กับบริษัทข้ามชาติ (MNEs) เป็นต้น และร่วมกันเสนอแนะประเด็นสำคัญที่ควรสานต่อในวาระที่สิงคโปร์เป็นประธานอาเซียนในปี 2561 เช่น การส่งเสริมนวัตกรรม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเศรษฐกิจดิจิทัล การเสริมสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และการส่งเสริมการค้าบริการ เป็นต้น
ในปี 2559 อาเซียนมีมูลค่าการค้ารวม 2.24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนโดยตรงเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนมูลค่ารวม 98 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ นอกจากอาเซียนจะค้าขายกันเองมากที่สุดแล้ว คู่ค้ารายใหญ่นอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ โดยสหภาพยุโรปยังคงเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของอาเซียน ตามด้วยสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
อาเซียนเตรียมหารือรับติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกในเดือนหน้า
จันทรา วิดยา ยูดา ผู้อำนวยการความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประจำกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย เปิดเผยกับสำนักข่าวเกียวโดนอกรอบการประชุมผู้นำปัจจุบันของประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน 10 แห่ง รวมถึงประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ อันได้แก่ จีน สหรัฐ และรัสเซีย ว่าจะจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสในวันที่ 5 ธ.ค. นี้ ณ เกาะบาหลี เพื่อหารือเกี่ยวกับการยอมรับติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิก
โจเซ่ ตาวาเรซ อธิบดีด้านความร่วมมือกับอาเซียนประจำกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่าทางสมาคมได้รับผลการศึกษาด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เกี่ยวกับการยอมรับติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียนจากหน่วยงานอิสระ 3 แห่งแล้ว
เขาเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ของอาเซียนจะดำเนินการพิจารณาข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้คำแนะนำว่าติมอร์ตะวันออกมีความพร้อมในการเข้าร่วมกลุ่มอาเซียนหรือไม่
ทั้งนี้ ติมอร์ตะวันออกสมัครเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของอาเซียนเมื่อปี 2554 ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียดำรงตำแหน่งประธานของกลุ่ม มาร์ตี นาตาเลกาวา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในขณะนั้นแสดงความเห็นว่า โดยทางภูมิศาสตร์แล้ว ประเทศติมอร์ตะวันออกถือเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเพียง 2 ทางเลือกสำหรับอาเซียนว่าจะเชิญชวนประเทศแห่งนี้ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก หรือไม่ก็เลิกสนใจไปเลย
ประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของอาเซียนแสดงความกังวลถึงความขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ของประเทศดังกล่าวในการจัดการกับการประชุมต่าง ๆ ของอาเซียน รวมถึงช่องว่างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากสมาชิกอาเซียนด้วย
แม้จะมีรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ติมอร์ตะวันออกยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากสถิติอย่างเป็นทางการที่ระบุว่าประชากรประมาณ 40% ของติมอร์ตะวันออกอยู่ใต้เส้นความยากจน
อนึ่ง ติมอร์ตะวันออกซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของประเทศโปรตุเกส ประกาศอิสรภาพเมื่อปี 2518 ทว่าต่อมาได้ถูกอินโดนีเซียเข้ามารุกรานและยึดครองภายในปีเดียวกันนั้นเอง
ภายหลังจากที่มีการลงมติจากประชาชนให้แยกตัวออกจากประเทศอินโดนีเซียในปี 2542 ติมอร์ตะวันออกก็ได้รับอิสรภาพในปี 2545 หลังจากอยู่ภายใต้การบริหารขององค์การสหประชาชาติเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง
สำหรับ ประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้น ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
อินโฟเควสท์