WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AAA AEC

พาณิชย์ ใช้ความนิยมสินค้าไทย เจาะตลาดอาเซียน

     'อภิรดี'สั่งการกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดกิจกรรมขยายตลาดอาเซียนปี 61 เป็นพิเศษ หวังสร้างการรู้จักสินค้าไทยและผลักดันการส่งออกให้ได้เพิ่มมากขึ้น ‘จันทิรา’รับลูกเตรียมจัดงาน Top Thai Brand และ Mini Thailand Week นำสินค้าไทยโชว์ เผยยังมีแผนนำสินค้าไทยขยายตลาดอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ปากีสถาน และอิหร่านด้วย

      นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดกิจกรรมขยายตลาดอาเซียนปี 2561 เป็นพิเศษ เพื่อหาทางผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดให้ได้เพิ่มมากขึ้น และขยายการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดอาเซียนให้ได้มากขึ้น โดยให้เน้นการจัดงานกิจกรรมแนะนำสินค้าไทย รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าไทย เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ทั้งกับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า รวมถึงผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ของอาเซียน

     “ปัจจุบันตลาดอาเซียนเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาด CLMV ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะให้ความสำคัญกับการบุกเจาะตลาดอย่างเต็มที่ และขอให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดเป็นพิเศษ”นางอภิรดีกล่าว

     นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนการขยายตลาดอาเซียนเสร็จแล้ว โดยได้กำหนดที่จะจัดงาน Top Thai Brand 2018 ที่กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว และมาเลเซีย และจัด Mini Thailand Week 2018 ที่สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา โดยจะเน้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ของตกแต่งบ้าน สินค้าความงาม แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าเกษตร อัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้าบริการ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

     นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะจัด Thailand Week 2018 ในประเทศต่างๆ นอกเหนือจากอาเซียน เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ปากีสถาน และอิหร่าน เป็นต้น

      สำหรับ การจัดงาน Top Thai Brand 2018 ได้กำหนดจัด 6 ครั้ง ได้แก่ พนมเปญ กัมพูชา วันที่ 1-4 ก.พ.2561 , ย่างกุ้ง เมียนมา วันที่ 22-25 มี.ค.2561 , โฮจิมินห์ซิตี้ เวียดนาม วันที่ 10-13 พ.ค.2561 , เวียงจันทน์ สปป.ลาว เดือนพ.ค.2561 , ฮานอย เวียดนาม วันที่ 16-19 ส.ค.2561 และกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย วันที่ 23-25 ส.ค.2561

     ส่วนงาน Mini Thailand Week 2018 กำหนดจัด 6 ครั้ง ได้แก่ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว เดือน ก.พ.2561 จำนวน 5 วัน , มะนิลา ฟิลิปปินส์ วันที่ 15-18 มี.ค.2561, นครไฮฟอง เวียดนาม วันที่ 15-18 มี.ค.2561 , เสียมราฐ กัมพูชา เดือนเม.ย.2561 จำนวน 4 วัน , เกิ่นเทอ เวียดนาม วันที่ 6-8 ก.ค.2561 และตองยี เมียนมา วันที่ 24-26 ส.ค.2561

     ขณะที่กำหนดการจัดงาน Thailand Week 2018 ในประเทศอื่นๆ ได้แก่ โกลกาตา อินเดีย เดือนก.พ.-มี.ค.2561 , โคลัมโบ ศรีลังกา วันที่ 9-11 มี.ค.2561 , ธากา อินเดีย วันที่ 22-26 พ.ค.2561 , มุมไบ/ บังกาลอร์ อินเดีย เดือนมิ.ย. หรือ ก.ค.2561 , เจนไน อินเดีย วันที่ 10-12 ส.ค.2561, การาจีน ปากีสถาน เดือนก.ย.2561 และเตหะราน อิหร่าน เดือนส.ค.หรือก.ย.2561

      สำหรับ ตลาดอาเซียน เป็นคู่ค้าอันดับ 1 และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยการส่งออกในช่วง 9 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 43,750.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.82% และมูลค่าคิดเป็น 24.94% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย  คาดว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2560 ตลาดอาเซียนจะยังคงขยายตัวได้ดีต่อไป

คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถกอนาคต AEC

       คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ปลื้มผลการเดินหน้าตามพิมพ์เขียวก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 พร้อมรับรอง 23 แผนงานต่อยอดจากมาตรการเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน เน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ MSMEsส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และนวัตกรรม

     นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการหารือของคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการหารือครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อปลายปี 2558 ซึ่งไทยได้กล่าวเน้นย้ำในที่ประชุมว่าอาเซียนต้องให้ความสำคัญของการเสริมสร้างผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย หรือ MSMEsที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในขณะนี้ และดำเนินการแก้ปัญหามาตรการ      นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้หารือความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025)ซึ่งที่ประชุม  AEC Council ได้รับรองแผนงานรายสาขา (Sectoral Work Plans) ได้ครบถ้วนทั้ง 23 แผนงาน โดย 3 แผนงานสุดท้ายที่ได้รับรอง คือ (1) แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าลงร้อยละ 10 ภายในปี 2563 และเพิ่มมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่า ภายในปี 2568 (2) แผนการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินเพื่อส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในภูมิภาค และ (3) แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านภาษีอากร ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการด้านภาษีอากร เช่นการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อจัดทำความตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนให้แล้วเสร็จ การขยายขอบเขตโครงสร้างภาษีหัก ณ ที่จ่าย การปรับปรุงการปฏิบัติงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งแผนงานดังกล่าวเป็นแผนงาน/กิจกรรมที่จะดำเนินการนับจากนี้จนถึงปี 2568รวมทั้งที่ประชุมครั้งนี้ได้รับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยนวัตกรรม ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการใช้นวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโต และการแข่งขันของอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค โดยเอกสารดังกล่าวจะเสนอต่อผู้นำอาเซียนให้ความเห็นชอบภายในการประชุมผู้นำอาเซียนในครั้งนี้

     นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบรายงานของ AEC Council ต่อผู้นำอาเซียน ซึ่งมีข้อเสนอให้ผู้นำอาเซียนพิจารณา ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรรายสาขา และเสาหลักของประชาคมอาเซียน การให้ประเทศสมาชิก RCEP แสดงความยืดหยุ่นและปรับระดับความคาดหวัง เพื่อให้การเจรจาความตกลง RCEPบรรลุผล และการหารือในระดับนโยบายทั้งภายในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเอง และระหว่าง 3 เสา เพื่อมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ครอบคลุมทุกภาคส่วน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

     นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จของฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียนที่ได้ผลักดันประเด็นสำคัญให้บรรลุผลสำเร็จ เช่น การวัดผลสัมฤทธิ์ของมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน กรอบการดำเนินงานเพื่อให้ธุรกิจรายเล็กและรายย่อยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก การส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีและเยาวชน การปรับปรุงกฎระเบียบการจดทะเบียนธุรกิจของสมาชิกอาเซียนให้สอดคล้องกัน การจัดกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่าง MSMEs กับบริษัทข้ามชาติ (MNEs)เป็นต้น และร่วมกันเสนอแนะประเด็นสำคัญที่ควรสานต่อในวาระที่สิงคโปร์เป็นประธานอาเซียนในปี 2561 เช่น การส่งเสริมนวัตกรรม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเศรษฐกิจดิจิทัล การเสริมสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และการส่งเสริมการค้าบริการ เป็นต้น

     ในปี 2559 อาเซียนมีมูลค่าการค้ารวม 2.24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนโดยตรงเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนมูลค่ารวม 98 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ นอกจากอาเซียนจะค้าขายกันเองมากที่สุดแล้ว คู่ค้ารายใหญ่นอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ โดยสหภาพยุโรปยังคงเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของอาเซียน ตามด้วยสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

                กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

อาเซียนและฮ่องกง สานสัมพันธ์เศรษฐกิจหน้าใหม่ในฐานะคู่ค้า FTA

     รัฐมนตรีเศรษฐกิจของชาติสมาชิกอาเซียนและฮ่องกงได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีและความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-ฮ่องกงแล้ว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ หลังจากทั้งสองฝ่ายประกาศความสำเร็จของการเจรจาเมื่อกันยายน ที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งกลุ่มอาเซียน โดยความตกลงจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562

      นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงนามว่า ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับฮ่องกง พร้อมด้วยรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนและนายเอ็ดเวิร์ด เยา รัฐมนตรีพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง ได้ร่วมกันลงนามในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong Free Trade Agreement: AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong Investment Agreement: AHKIA) ซึ่งเป็นความตกลงลำดับที่ 6 ระหว่างอาเซียนกับประเทศภายนอก โดยความตกลงได้ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างอาเซียนกับฮ่องกง ซึ่งจะสร้างประโยชน์กับทั้งอาเซียนและฮ่องกง โดยอาเซียนสามารถใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นประตูสู่ตลาดใหญ่อย่างจีน จากช่องทางที่ฮ่องกงและจีนได้ทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันเองไว้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของฮ่องกงด้านการเงิน โลจิสติกส์และการให้บริการทางกฎหมาย ตลอดจนการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคของฮ่องกง

    นางอภิรดี กล่าวเสริมว่า ไทยจะได้รับประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์จากความตกลงดังกล่าวจากการที่ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาคและประตูสู่จีนและตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งไทยและฮ่องกงพร้อมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันโดยเฉพาะการเป็นประตูการค้าและการลงทุนสู่ภูมิภาคระหว่างกัน การยกระดับของการค้าบริการ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน รวมทั้งการเชื่อมโยงโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ของจีน และเขตเศรษฐกิจใหม่ (ฮ่องกง มาเก๊า และมณฑลกว้างตุ้ง) หรือ Greater Bay Area ของฮ่องกง

       ทั้งนี้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงด้านการลงทุน มีสาระสำคัญโดยสรุปได้ ดังนี้

1) การค้าสินค้า

        ได้กำหนดกรอบการลดอัตราภาษีนำเข้า โดยแบ่งกลุ่มสินค้า แบ่งเป็นสินค้าปกติ (ลดภาษีเป็นศูนย์ภายใน 3 ปี และ 10 ปี) สินค้าอ่อนไหว (ลดภาษีเหลือร้อยละ 0-5 ภายใน 12 ปี) สินค้าอ่อนไหวสูง (ลดภาษีเหลือน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 50 ภายใน 14 ปี) และสินค้าไม่ลดภาษี โดยฮ่องกงจะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่ต่ำลงของอาเซียน ส่วนอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการที่ฮ่องกงยินยอมผูกพันภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากอาเซียนในอัตรา 0% ซึ่งสร้างความแน่นอนต่อการส่งออกไปยังฮ่องกงว่าฮ่องกงไม่สามารถขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอาเซียนได้ในอนาคต ทั้งนี้ ความตกลงได้กำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่รัดกุม ป้องกันการสวมสิทธิจากประเทศที่ไม่ใช่ภาคีสมาชิกของความตกลงนี้

2) การค้าบริการ

        สมาชิกอาเซียนและฮ่องกงมีข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการแยกเป็นรายประเทศ โดยฮ่องกงจะเปิดตลาดการค้าบริการให้อาเซียนมากกว่าที่เปิดให้แก่ประเทศอื่นๆ ภายใต้ WTOเช่น อนุญาตให้ผู้ให้บริการของภาคีสมาชิกเข้าไปลงทุนในฮ่องกงโดยถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 100 ในสาขาบริการต่าง ๆ จำนวนกว่าร้อยละ 90 ของสาขาบริการ และเปิดตลาดการค้าบริการเพิ่มเติมตามที่ไทยเรียกร้องในสาขาบริการการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยผู้ให้บริการของภาคีสมาชิกสามารถถือหุ้นได้ร้อยละ 100 สำหรับการให้บริการโดยบุคคลธรรมดา

3) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ

       อาเซียนและฮ่องกงได้จัดทำแผนงาน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือใน 5 สาขา ได้แก่ (1) บริการวิชาชีพ (2) พิธีการศุลกากร (3) การอำนวยความสะดวกทางการค้า/ โลจิสติกส์ (4) SMEs และ (5) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยฮ่องกงได้จัดสรรให้เงินสนับสนุน จำนวน 25 ล้านเหรียญฮ่องกง สำหรับโครงการความร่วมมือในระยะเวลา 5 ปี หลังความตกลงมีผลใช้บังคับ

4) ด้านการลงทุน

        จะครอบคลุมการคุ้มครองการลงทุนและการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกการลงทุน แบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลัก คือ (1) การเปิดตลาด อาเซียนและฮ่องกงตกลงจะพิจารณาประเด็นของการเปิดตลาดด้านการลงทุนภายในเวลา 1 ปีหลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับแล้ว (2) การคุ้มครองการลงทุนให้แก่นักลงทุนของภาคีหลังจากที่ได้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจแล้วในอีกภาคีหนึ่ง รวมถึงการปฏิบัติต่อการลงทุนด้วยความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันและการให้ความคุ้มครองและความมั่นคงอย่างครบถ้วน และ (3) การส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกการลงทุน เช่น การสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน การทำให้กระบวนการสำหรับการยื่นขอและการอนุมัติการลงทุน ง่ายขึ้น การส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลด้านการลงทุน และการจัดตั้งศูนย์การลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เป็นต้น

    ในปี 2559 การค้ารวมระหว่างไทยกับฮ่องกงมีมูลค่า 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว ผลไม้สด สินค้านำเข้าจากฮ่องกง ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ และผ้าผืนส่วนการลงทุนของฮ่องกงในไทย เมื่อปี 2559 มีโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จำนวน 32 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 8.6 พันล้านบาท นอกจากนี้ ไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวฮ่องกงกว่า 750,000 คน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!