พาณิชย์ คงเป้าส่งออกปีนี้โต 3.5% หลังเชื่อครึ่งปีหลังส่งสัญญาณส่งออกฟื้นตัว แม้ ก.ค.57 ติดลบ 0.85 % จากการหดตัวในสินค้าทองคำ และน้ำมัน -ศก.จีนชะลอตัว
พาณิชย์ คงเป้าส่งออกปีนี้โต 3.5% หลังเชื่อครึ่งปีหลังส่งสัญญาณส่งออกฟื้นตัว แม้ ก.ค.57 ติดลบ 0.85 % จากการหดตัวในสินค้าทองคำ และน้ำมัน -ศก.จีนชะลอตัว นำเข้าติดลบ 2.86% ส่งผลขาดดุลการค้า 1.1 พันล้านดอลล์
กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า พาณิชย์ คงเป้าส่งออกปีนี้โต 3.5% โดยเชื่อว่าการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังส่งสัญญาณการฟื้นตัว จากการที่มูลค่าการส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น จนกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 พร้อมกับสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกหลักที่การส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 รวมทั้งประเทศคู่ค้าหลักกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 จะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศภูมิภาคตะวันตกและจีน ซึ่งจะทำให้การส่งออกในภูมิภาคอาเซียนขยายตัว อีกทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น ราคาน้ำมันดิบ ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก และราคาทองคำซึ่งอาจจะทำให้การส่งออกทองคำมีความผันผวนสูง
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยใน เดือน ก.ค. 57 มีมูลค่า 18,896.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.85 (YoY) และลดลงจาก มิ.ย.57 ที่โต 3.90% โดยสินค้าส่งออกหลัก(ไม่รวมสินแร่เชื้อเพลิง และทองคำ) มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17,766.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 2.47 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 94.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่การส่งออก สินแร่ เชื้อเพลิงและทองคำซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 6.0 ของมูลค่าการส่งออกรวมหดตัวร้อยละ 34.26
โดยการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปขยายตัวเป็นบวก ขณะที่ตลาดสำคัญในเอเชียอย่างจีน และอาเซียนยังหดตัว กลุ่มตลาดส่งออกหลักของไทยขยายตัวได้ดี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 4.5, 3.3 และ 7.3 (YoY) ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกหลังจากหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน ขณะที่จีนและอาเซียนกลับมาหดตัวที่ร้อยละ 1.7 และ 5.2 ตามลำดับ โดยอาเซียนหดตัวมากในกลุ่มอาเซียนเดิม (5) ติดลบถึงร้อยละ 11.5 (YoY) จากการส่งออกที่ลดลงในสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา และเคมีภัณฑ์ ในตลาดอินโดนิเซีย มาเลเซียและสิงค์โปร์ แต่ในส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และ ฟิลิปปินส์ ยังเป็นตลาดที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 9.3 และ13.2 (YoY) ตามลำดับ โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มขึ้นได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เหล็ก และเครื่องดื่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 การส่งออกเดือน ก.ค. 57 ในภาพรวมสินค้าส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.0 (YoY) โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 3.6) กลุ่มยานพาหนะ และส่วนประกอบ (ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 10.3) รวมทั้งกลุ่มสินค้าเม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ และกลุ่มสิ่งพิมพ์ กระดาษและบรรจุภัณฑ์ ขยายตัวที่ร้อยละ 10.0, 1.1 และ 3.3 (YoY) ตามลำดับ แม้ว่าภาพรวมการส่งสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว
แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการยังมีการปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.9 (YoY) จากการชะลอตัวจากคำสั่งซื้อที่ลดลงในตลาด ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย เนื่องจากผ่านพ้นฤดูร้อนไปแล้ว ส่วนการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าที่หดตัวร้อยละ 5.5 (YoY) เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดที่สำคัญลดลง ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และจีน รวมทั้งสินค้าผลิตภัณฑ์ยางหดตัว 2.0 จากการที่ตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาหันไปนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันตลาดญี่ปุ่นยังมีการเติบโตต่อเนื่อง
ขณะที่ สินค้าในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม จากการขยายตัวของการส่งออกในหลายสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูปที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งสินค้ากลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปและน้ำตาล ที่กลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรก ในรอบกว่า 17 เดือนและ 7 เดือนตามลำดับ ขณะที่สินค้าส่งออกที่ยังคงหดตัว ได้แก่ ยางพาราหดตัวร้อยละ 23.4 จากปัจจัยราคายางพาราตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากการขยายตัวของอุปทานยางพาราในตลาดโลก ขณะที่อุปสงค์ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร อีกทั้งจีนหันไปนำเข้ายางพาราจากเวียดนามเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังกลับมาหดตัวจากการที่ จีน ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทย ลดการนำเข้ามันสำปะหลังมันอัดเม็ดและมันเส้นลง เนื่องจากปัญหาเรื่องคุณภาพมันเส้น และวัตถุเจือปน
ส่วนการส่งออกในระยะ 7 เดือน (ม.ค. - ก.ค. 57) มีมูลค่า 131,600.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.42 (AoA)
ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าเดือน ก.ค. 57 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 56 (YoY) ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.86 (YoY) เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกในช่วงเวลาที่ผ่านมาชะลอตัว รวมทั้งการความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศลดลงจากปีก่อน ภายหลังสิ้นสุดโครงการรถคันแรก ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภค/บริโภค และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ มีการนำเข้าลดลงร้อยละ 12.1, 3.2 และ23.8 (YoY) ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้ากลุ่มวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป หดตัวสูงในสินค้าทองคำ ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าลดลงถึงร้อยละ 64.5 (YoY) เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงจึงไม่เป็นที่จูงใจให้นักลงทุนซื้อเพื่อการเก็งกำไร ขณะที่การนำเข้าสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง และสินค้าทุน มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 57.4
รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 2.5 ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลให้การนำเข้าเชิงมูลค่าของน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ในส่วนสินค้าทุนที่กลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกของปี 2557 ที่ร้อยละ 6.4 (YoY) เนื่องจากมีการนำเข้าเครื่องบิน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 297.89 อย่างไรก็ดีการนำเข้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ในกลุ่มสินค้าทุนยังหดตัว ส่วนดุลการค้าระหว่างประเทศ เดือน ก.ค. 57 ขาดดุลรวม 1,102.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนระยะ7 เดือน (ม.ค. - ก.ค. 57) ขาดดุลรวม 865.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าสะสม 7 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 12.5 (AoA) เนื่องมาจากปัจจัยเรื่องการอ่อนค่าของเงินบาททำให้ชะลอการนำเข้าลง และใช้สินค้าในสต๊อกทดแทนการนำเข้า ประกอบการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และความไม่ชัดเจนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ไม่มีการประชุมมาเป็นระยะเวลานานซึ่งส่งผลทำให้การนำเข้าเครื่องจักรเพื่อใช้ประกอบการลงทุนลดลง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
|