WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOCอภรด ตนตราภรณพณ.ติดตามความคืบหน้าการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พื้นที่ จ.เพชรบูรณ์

      นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ นำผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรหนองไผ่ (สาขาท่าแดง) จำกัด อ.หนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในวันนี้ เพื่อขนายการนำ"เพชรบูรณ์โมเดล"เป็นต้นแบบไปจัดทำโครงการเชื่อมโยงตลาดในจังหวัดอื่น ๆ เพิ่มเติม

      รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อรับมือในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยได้หารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ วางแผนล่วงหน้าให้มีการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้อ ที่เรียกว่า ไตรภาคี (เกษตรกร - ผู้รวบรวมในพื้นที่ - โรงงานอาหารสัตว์) เพื่อให้สามารถติดตามการซื้อขาย แก้ปัญหาการต่อคิวขายผลผลิต ณ หน้าโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งได้ทดลองเชื่อมโยงที่จังหวัดเพชรบูรณ์ (เพชรบูรณ์โมเดล) ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงได้ให้กรมการค้าภายในนำต้นแบบการเชื่อมโยงนี้เป็นตัวอย่างที่จะนำไปขยายผลในจังหวัดอื่น ซึ่ง ณ ขณะนี้ก็ได้นำโมเดลนี้ไปใช้แล้วใน 14 จังหวัด ปริมาณกว่า 5 แสนตัน และจะดำเนินการเชื่อมโยงตลาดในลักษณะนี้กับสินค้าเกษตรที่สำคัญอื่นๆ เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง อีกด้วย

       "การได้พบปะพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพด สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้คิดได้วางแผนไว้ กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดีต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และผู้ประกอบการที่ร่วมมือกันเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม"รมว.พาณิชย์ กล่าว

      ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ใช้โอกาสเดียวกันนี้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการกรีนมาเก็ต เพชรบูรณ์ ที่สหกรณ์ผลิตผักน้ำดุกใต้ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งพบว่ากลุ่มเกษตรกรได้มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งในการปลูกพืชผักอินทรีย์ เพราะเห็นว่ามีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตที่สูงขึ้นจริง จากความต้องการของตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นและยังมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอนทั้งการส่งเข้าไปจำหน่ายในสหกรณ์และห้างสรรพสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ได้ช่วยประสานให้เข้ามาช่วยรับซื้อเช่น ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต บริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป และเครือเดอะมอลล์

        นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนที่จะผลักดันให้เกษตรกรในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ หันมาเพาะปลูกพืชผักอินทรีย์ เพื่อป้อนความต้องการของตลาด และผลักดันเกษตรกรให้มีการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ทั้งการรองรับผลผลิตจากสมาชิกก่อนนำไปจำหน่าย และยังช่วยสร้างอำนาจในการต่อรองในการจำหน่ายสินค้า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น สำหรับโครงการกรีนมาร์เก็ตเพชรบูรณ์เป็นการรวมตัวของของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์โดยปัจจุบันมีจำนวนกลุ่มมากกว่า 93 กลุ่มมีสมาชิกมากกว่า 1,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ใน 11 อำเภอ ของ จ.เพชรบูรณ์ มีสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตได้ครอบคลุมทั้งกลุ่มพืชผักผลไม้ เกษตรแปรรูป ปศุสัตว์ และประมง

       “ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดนำโมเดลกรีนมาร์เก็ตเพชรบูรณ์ ไปผลักดันให้เกษตรกรในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมตัวกันเพื่อเพาะปลูกพืชผักอินทรีย์ เพราะเกษตรอินทรีย์เป็นแนวโน้มใหม่ของโลก ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อม และการปลูกเกษตรอินทรีย์ยังช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรในระยะยาวและทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าการเพาะปลูกพืชผักแบบปกติด้วย" นางอภิรดีกล่าว

                        อินโฟเควสท์

 

รมว.พาณิชย์ ใช้โมเดลไตรภาคีบริหารจัดการราคาผลผลิตช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ

    นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เผยนำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโมเดลไตรภาคี โดยได้พบปะกับประชาชนที่สหกรณ์การเกษตรหนองไผ่ (สาขาท่าแดง) จำกัด อำเภอหนองไผ่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนชี้แจงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งรับฟังปัญหาข้อเสนอของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งพบว่าเกษตรกรพอใจในราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขายได้จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้นำโมเดลไตรภาคีเข้ามาบริหารจัดการ โดยราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้จะอยู่ที่ระหว่าง 7.50-7.70 บาท/กิโลกรัม ซึ่งถือได้ว่าเป็นราคาที่เหมาะสม

      ทั้งนี้ จากการติดตามความก้าวหน้าในการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2560 พบว่ามีการเชื่อมโยงในพื้นที่แล้วกว่า 14,000 ตัน ซึ่งถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ตนเองจึงได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในนำการเชื่อมโยงนี้เป็นตัวอย่างไปขยายผลในจังหวัดอื่นต่อไปจนถึงปัจจุบันขยายผลไปแล้วใน 15 จังหวัด โดยมีการเชื่อมโยงแล้วกว่า 5 แสนตัน และจะดำเนินการเชื่อมโยงตลาดในลักษณะนี้กับสินค้าเกษตรสำคัญอื่นๆ เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง ต่อไป

      นอกจากนั้น ยังได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับทราบผลการดำเนินงานของรัฐบาล อาทิ การกำหนดสัดส่วนนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน การขอความร่วมมือโรงงานอาหารสัตว์เพิ่มปริมาณการรับซื้อ การแก้ปัญหาติดคิวที่หน้าโรงงานรับซื้อ และการเพิ่มช่องทางพิเศษให้เกษตรกรสามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายได้โดยตรง

      สำหรับ ข้อเสนอแนะจากการลงพื้นที่ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ฝากให้รัฐบาลนำไปพิจารณาดำเนินการ อาทิ การพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณกำหนดผลผลิตต่อไร่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ผลผลิตในระดับพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตที่ผลิตบนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ได้มากขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งข้อเสนอแนะดังกล่าวให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการพิจารณาต่อไป

       นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมโครงการกรีนมาร์เก็ตที่สหกรณ์ผลิตผักน้ำดุกใต้ อ.หล่มสัก ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการส่งเสริมการตลาดในรูปแบบของคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน หรือ 'ประชารัฐ' โดยได้น้อมนำหลักคิดตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักปฏิบัติเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 มาเป็นกรอบในการดำเนินงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่งหันมาปลูกพืชผักปลอดภัยแทน เนื่องจากมีรายได้ดีกว่า ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมมากกว่า 93 กลุ่ม มีสมาชิกมากกว่า 1,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 11 อำเภอ กระทรวงพาณิชย์ได้เชื่อมโยงการตลาด โดยประสานผู้ประกอบการ Modern Trade ให้เข้ามาช่วยรับซื้อ อาทิ ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต บริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป และเครือเดอะมอลล์ รวมทั้งได้มอบหมายกรมการค้าภายในร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการผลักดันการปลูกพืชผักปลอดภัยให้ยกระดับเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบ Organic พร้อมทั้งสนับสนุนให้นำสินค้าไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ระดับโลกซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2561 ที่กรุงเทพฯ และมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดร่วมกับเกษตรจังหวัดนำโมเดลกรีนมาร์เก็ตเพชรบูรณ์ไปขยายผลให้เกษตรกรในจังหวัดอื่นหันมาเพาะปลูกพืชผักปลอดภัยซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นและเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรที่เคยปลูกข้าวหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นในการทำการเกษตร เพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

                        อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!