- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 23 October 2017 16:39
- Hits: 15539
'บัตรสวัสดิการคนจน'ยังไม่ชัดตอบโจทย์คนใช้งาน!...
ไทยโพสต์ : หลังจากผ่านพ้นการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ภายใต้ "โครงการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560" ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา และกระบวนการเดินหน้ามาจนถึงขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิ์ จนถึงขั้นตอนการประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์เรียบร้อย โดยสรุปว่าในปี 2560 มีผู้ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบสิทธิ์ และได้รับสวัสดิการจากรัฐบาลจำนวน 11.43 ล้านคน จากผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.1 ล้านคน โดยในส่วนนี้โดนตัดสิทธิ์ไปทั้งสิ้น 2.74 ล้านคน แบ่งเป็นไม่ผ่านคุณสมบัติ คือ มีที่ดินเกินกว่าที่กำหนด 1.65 ล้านคน, มีเงินฝากเกินกว่าที่กำหนด จำนวน 6.8 แสนคน และที่เหลือมีรายได้เกินกว่าที่กำหนด จำนวน 4 แสนคน
หลังจากกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้น ก็เป็นหน้าที่ของ "กรมบัญชีกลาง" ที่จะเดินหน้าแจกจ่ายบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยให้กับประชาชน 11.43 ล้านคน โดยรอบแรกได้ดำเนินการแจกจ่ายบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยให้กับผู้ที่มีสิทธิ์ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 10.1 ล้านคนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2560 โดยดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บมจ.ธนาคารกรุงไทย และสำนักงานคลังจังหวัด
ขณะที่ผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตรสวัสดิการในอีก 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, นครปฐม และสมุทรสาครนั้น ได้มีการเลื่อนแจกบัตรดังกล่าวออกไปเป็นวันที่ 17 ต.ค.2560 เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องการ "ผลิตไม่ทัน" นั่นเพราะบัตรสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยใน 7 จังหวัด จะเป็นระบบ 2 ชิปการ์ด ทำให้ต้องมีการเชื่อมระบบเข้ากับบัตรแมงมุม เพื่อใช้ชำระค่าสินค้า และค่าโดยสารรถ ขสมก. และรถไฟฟ้าตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วมแมงมุม ของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนช.) ทำให้ต้องเพิ่มขั้นตอนการผลิตบัตรออกไป แต่ในส่วนนี้ "กรมบัญชีกลาง" เองก็ได้ยกยอดวงเงินในบัตรสวัสดิการสำหรับผู้มีสิทธิ์ในส่วนนี้ในเดือน ต.ค.2560 ให้ไปใช้ต่อได้ในเดือน พ.ย.2560 เพื่อชดเชยเวลาให้ผู้มีสิทธิ์สามารถใช้วงเงินคงเหลือดังกล่าวได้
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ ทุกครั้งที่มีการแจกจ่ายบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยทั้งใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ และ 7 จังหวัด มักจะได้รับการตอบรับจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เป็นอย่างมาก โดยได้ไปต่อคิวรอรับบัตรเพื่อรับสวัสดิการจากรัฐบาลอย่างคึกคัก
นั่นอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่เป็นเครื่องสะท้อนได้ว่า "ประชาชนผู้มีรายได้น้อย" ซึ่งจัดอยู่ในเศรษฐกิจฐานรากนั้น อาจจะยังต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ จากรัฐบาลอยู่พอสมควร ด้วยเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ยังโตกระจุกอยู่แต่ระดับบน ขณะที่ในระดับฐานรากยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ในภาวะค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง การมีสวัสดิการจากรัฐบาลเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ จึงถือเป็นเรื่องดี และมีประโยชน์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
โดยสวัสดิการที่รัฐบาลจัดให้ผู้มีรายได้น้อยในปี 2560 จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ นั่นหมายถึงหากผู้มีรายได้น้อยมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี หรืออยู่ภายใต้เส้นความยากจนจะได้รับเงินช่วยเหลือ 300 บาทต่อเดือน และหากมีรายได้สูงกว่า 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท จะได้รับเงินช่วยเหลือ 200 บาทต่อเดือน รวมทั้งได้รับส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม จากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน
นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการในการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผ่านวงเงินค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน ค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยรัฐบาลจะใช้งบประมาณในการดำเนินการจัดสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยในรอบนี้ทั้งสิ้น 4.19 หมื่นล้านบาท
"บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย" ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักหากจะพบปัญหาระหว่างดำเนินโครงการ
สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ก็ออกมายอมรับว่าขณะนี้มีปัญหาเรื่องการ "ทุจริต" จากการใช้บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเกิดขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดส่วนใหญ่อยู่ตามต่างจังหวัด ซึ่งคลังจังหวัดและพาณิชย์จังหวัดได้ประสานความร่วมมือในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่จังหวัดมหาสารคาม มีผู้มีรายได้น้อยนำบัตรสวัสดิการไปแลกเป็นเงินสดจากร้านธงฟ้า โดยไม่ได้ซื้อสินค้า ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าผิดเงื่อนไข และหากตรวจสอบว่ากระทำความผิดจริง หน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินการลงโทษตามกระบวนการ โดยในส่วนของร้านธงฟ้าจะถูกถอดทะเบียนร้านธงฟ้ากับกระทรวงพาณิชย์ ยึดเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) ส่วนผู้ถือบัตรจะถูกระงับวงเงินในบัตรทันที
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่ามีร้านธงฟ้าบางแห่งที่ยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องอีดีซี แต่มีการติดป้ายหน้าร้านว่าพร้อมรับบัตรสวัสดิการ โดยสามารถมารับสินค้าออกไปก่อนได้ในวงเงินที่บัตรกำหนด แต่! ร้านค้าจะทำการยึดบัตรสวัสดิการไว้ก่อน โดยปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วที่จังหวัดลำปาง และกำแพงเพชร โดยรวมแล้วมีร้านธงฟ้าที่ยึดบัตรสวัสดิการไว้กว่า 1.5 พันใบ
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีผู้ถือบัตรสวัสดิการรายได้น้อยตามต่างจังหวัด ได้พยายามสื่อสารถึงส่วนกลางว่า วงเงินในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านธงฟ้า เฉลี่ย 200-300 บาทต่อเดือนนั้น "ยังน้อยเกินไป" ขณะที่บางส่วนเองก็รู้สึกว่าสวัสดิการด้านคมนาคม โดยเฉพาะในต่างจังหวัดอาจจะยังไม่ตรงใจ หมายถึงประชาชนบางรายไม่ได้มีการโดยสารรถไฟ หรือรถ บขส.ทุกเดือน ดังนั้นวงเงินที่ช่วยเหลือในส่วนนี้จึงอาจจะ "ไม่ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนอะไรเลย"
อาจเป็นคำถามตามมาได้ว่า 'สวัสดิการที่รัฐบาลมอบให้ตรงใจผู้รับหรือไม่?' เพราะหากมองในแง่ของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการสวัสดิการรัฐครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบทั้งหมด แต่หลักๆ คือ การบรรเทาความเดือดร้อนในบางส่วนให้คลี่คลายหรือลดความรุนแรงลง แต่หากมองในมุมของประชาชนสวัสดิการเพื่อเป็นการบรรเทานั้น อาจจะไม่ได้ "ตอบโจทย์" ผู้รับทั้งหมดก็เป็นไปได้
ต้องยอมรับว่า ประชาชนผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ยังมีความต้องการให้เพิ่มวงเงินในการซื้อสินค้ามากขึ้น เสียงสะท้อนยืนยันว่า 200-300 บาทต่อเดือนนั้น อาจจะยังไม่เพียงพอ ขณะที่เงินช่วยเหลือค่าเดินทางนั้นก็ไม่ได้ทำให้ภาระต่างๆ ที่ผู้มีรายได้น้อยบางส่วนแบกรับอยู่ทุเลาลงเลย
ก่อนหน้านี้มีประเด็นที่น่าสนใจว่า 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณไปหาแนวทางในการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการสำหรับซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ทุกอย่างก็ต้องยุติลงไป เพราะรัฐบาลออกมายืนยันชัดเจนว่า ยังไม่มีนโยบายเหล่านี้!
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ คือ "ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ เจ้าของสินค้าต่างๆ มากกว่าประชาชนผู้มีรายได้น้อย" จนเป็นเหตุให้ "วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ" รมช.การคลัง ออกโรงชี้แจงเพื่อความกระจ่างว่า โครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือคือผู้มีรายได้น้อย และส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และการช่วยเหลือก็ไม่ได้เป็นมาตรการถาวร เพราะวัตถุประสงค์หลักของรัฐบาลคือการพยายามให้ความรู้ ควบคู่กับการช่วยเหลือ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเพียงพอต่อการดำรงชีพ
ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาลเอง ก็ยืนยันอีกเสียงว่า สินค้าที่อยู่ในร้านธงฟ้ามีความหลากหลาย มีทั้งจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ชุมชน ไม่ได้มีเฉพาะสินค้าจากบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น และโครงการสวัสดิการรัฐในครั้งนี้จะเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างตรงเป้าหมาย ถูกฝา ถูกตัว ไม่ได้เป็นการพยายามช่วยเหลือแบบไม่ตรงกลุ่ม ไม่ตรงคน ไม่ได้ช่วยแบบเหมา หรือแบบถัวเฉลี่ยเหมือนที่ผ่านๆ มาแน่นอน
ว่ากันจริงๆ อาจจะยังมีหลายฝ่ายที่มองว่าโครงการนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ในการดูแลผู้มีรายได้น้อยตามประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น เพราะไม่เพียงแต่ยังติดขัดในกระบวนการหลายอย่าง ตั้งแต่การผลิตบัตร การแจกบัตร การติดตั้งเครื่องอีดีซี การใช้บัตรร่วมกับระบบขนส่งต่างๆ ทำให้โครงการดูเหมือนจะไม่ราบรื่นอย่างที่คิดนัก
'อิสสระ สมชัย'อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการจ่ายเงินสำหรับซื้อสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการเดือนละ 200-300 บาท แต่! ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการ เพราะไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดให้แก่ผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นการนำบัตรไปรูดซื้อสินค้าในร้านธงฟ้า จึงไม่แน่ใจว่าระหว่างผู้มีรายได้น้อย กับนายทุนใหญ่เจ้าของโรงงาน ใครได้รับประโยชน์มากกว่ากัน
หรือบางส่วนก็มองว่าไม่ควรทำโครงการให้ยุ่งยาก ซับซ้อน หรือมีเงื่อนไขเยอะ น่าจะเป็นการช่วยเหลือที่ดีที่สุด ขณะที่บางส่วนก็มองว่าร้านธงฟ้าที่ติดตั้งเครื่องอีดีซีแล้วนั้นอาจจะยังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมความต้องการของผู้ถือบัตรอีกด้วย
"บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย" ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประชาชนจริงๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกหากระหว่างทางจะมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นบ้าง นั่นเป็นเรื่องในทางเทคนิคที่จะไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไข แต่ประเด็นเรื่อง "ความตอบโจทย์" ของสวัสดิการที่มอบให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้เกี่ยวข้องอาจจะต้องมานั่งคิด ทบทวนกันใหม่หรือไม่ว่า ตรงใจ ตรงจุด และตรงประเด็นที่ผู้มีรายได้น้อยต้องการอย่างแท้จริง!.