- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 19 October 2017 09:25
- Hits: 1834
พาณิชย์ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.60 ที่ระดับ 39.5 จาก 38.4 ใน ส.ค.60
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภค 60 พบว่า ในเดือน ก.ย.60 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มีค่า 39.5 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.60 ที่มีค่า 38.4 จากเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง
แนวโน้มการบริโภค การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวได้ดี เอกชนเริ่มมีกำไรจากการขยายการลงทุนเพิ่มตามโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐทั้งในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ และโครงการลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ สินค้าเกษตรแปรรูป ขยายตัวตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและน้ำตาล สินค้าเกษตรขยายตัวตามการส่งออกข้าว ยางพาราและผลไม้ ส่งผลต่อกำลังซื้อจากภาคเกษตรกรรมที่สามารถส่งออกได้มากขึ้น รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในประเทศผ่านมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันมีค่า 33.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 32.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต มีค่า 43.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 42.6 โดยค่าดัชนีฯ ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับ การคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าของสถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 48.9 ความคาดหวังรายได้อยู่ที่ระดับ 49.7 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 48.6 และโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ระดับ 31.9 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 30.1 ในเดือนก่อนหน้า รวมทั้งการวางแผนซื้อรถยนต์ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 14.7 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 14.6 โดยค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่น
ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ 52.4 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่ระดับ 54.1 โดยค่าดัชนีมีค่าสูงกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน
ด้านดัชนีราคาผู้บริโภครายได้น้อยของประเทศ เดือน ก.ย. สูงขึ้น 0.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 101.51 จาก 100.96 ในส.ค. 60 และดัชนีราคาผู้บริโภคเขตชนบท อยู่ที่ 101.59 จาก 101.02 ในเดือนส.ค. โดยสัดส่วนการใช้จ่ายหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮออล์ ในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย สูงขึ้น 45.12% จึงเห็นว่าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮออล์ในกลุ่มผู้ที่รายได้น้อย ยังมีการใช้จ่ายมาก รวมไปถึงดัชนีราคาผู้บริโภคในเขตชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ก็มีสัดส่วนการใช้จ่ายหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงเช่นเดียวกัน อยู่ที่ 42.63% ซึ่งจะมีการนำเสนอข้อมูลไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในการขยายหรือเพิ่มประเภทสินค้าที่เป็นอาหารและเครืองดื่มให้มากขึ้นในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
“ที่รัฐบาลพยายามให้มีข้าว น้ำมันพืช และเครื่องปรุงอาหารในร้านธงฟ้าประชารัฐ ก็มาถูกทางแล้ว แต่ถ้าจะเพิ่มขึ้นไปอีกได้ เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้"น.ส.วพิมพ์ชนก กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่นำเสนอยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า ควรจะเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการหรือไม่ เพราะมาตราการนี้เพิ่งออกมาใช้เพียง 2-3 วัน ซึ่งยังไม่เห็นภาพว่ามีผลกระทบต่อการใช้จ่ายหรือส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างไร แต่สิ่งที่สามารถดำเนินการได้คือ การเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเข้าไปอยู่ในระบบให้มากขึ้น
ส่วนจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อหรือไม่ น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า คงต้องใช้ระยะเวลาประเมินประมาณ 2-3 เดือน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการแจกบัตรสวัสดิการให้คลอบคลุมทั้งประเทศ และในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงการคำนวณอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามานั้นทำให้การคำนวณที่มีอยู่ไม่ทันสมัยหรือไม่ รวมถึงการหารือกันถึงสินค้าในร้านสวัสดิการธงฟ้าที่การราคาถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 15- 20% ซึ่งหากประชาชนที่ได้รับบัตรสวัสดิการใช้สิทธิซื้อสินค้าในร้านธงฟ้า ก็ยอมรับว่า อาจเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าปัจจุบันได้ แต่ทั้งนี้ คงต้องติดตามพฤติกรรมของการใช้จ่ายของภาคประชาชนด้วย
“คิดว่าต้องดูพฤติกรรมการใช้จ่ายของแต่ละครัวเรือนเป็นอย่างไร ถ้าถามว่าลดเงินเฟ้อหรือไม่ ดูด้านเดียวไม่ได้ ถ้าลดแล้วคนใช้จ่ายเร็วก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก ต่อให้กดดันเงินเฟ้อบ้าง ก็ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องกังวล เพราะอยากให้กระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า"น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
อินโฟเควสท์