- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 09 October 2017 23:02
- Hits: 7963
พาณิชย์ ชี้แจงการนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง เร่งหารือทุกฝ่ายไม่ให้เกิดผลกระทบอุตสาหกรรมไทยและผู้บริโภค
กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงประเด็นการเปิดนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดง และมาตรการเยียวยาหลังนำเข้าเนื้อสุกร หลังมีกระแสข่าวว่าไทยถูกกดดันจากประเทศผู้ส่งออก พร้อมเร่งหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหา แนวทางในดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศและผู้บริโภค
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่มีกระแสข่าวว่าไทยถูกกดดันจากประเทศผู้ส่งออก ประเด็นการเปิดนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดง โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า เรื่องนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการ CODEX ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศภายใต้การทำงานร่วมกันขององค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมีสมาชิก 187 ประเทศ รวมทั้งไทย ทำหน้าที่ด้านการกำหนดมาตรฐานอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ได้มีมติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 กำหนดค่าปริมาณสารเร่งเนื้อแดงในสุกรตกค้างที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคในเนื้อสุกร 4 ชนิด คือ กล้ามเนื้อ ไขมัน ตับ และไต ทำให้ประเทศผู้ส่งออก เช่น สหรัฐฯ และแคนาดาผลักดันให้ไทยเร่งดำเนินการยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง และให้เปิดให้มีการนำเข้าได้ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานที่ CODEX กำหนด โดยขอให้ไทยเร่งปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับมติ CODEX ตั้งแต่ปี 2555 โดยเร็ว
นางอรมน กล่าวว่า จากมติ CODEX ดังกล่าว ส่งผลให้ไทยต้องมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นประเทศการค้า และเป็นสมาชิกของ CODEX และองค์การการค้าโลก (WTO) หากไม่ปฏิบัติตามอาจจะถูกประเทศคู่ค้าฟ้องร้องได้ ขณะเดียวกันเป็นโอกาสเร่งพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจน ยกระดับการผลิตของไทย ให้มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในสากล โดยปัจจุบันประเทศไทยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการนำเข้าหมูปลอดสาร โดยหากจะนำเข้าต้องมาขออนุญาตดำเนินกระบวนการตรวจสอบด้านสุขอนามัยก่อนจึงจะสามารถนำเข้าได้
ทั้งนี้ ในส่วนการนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างจากสหรัฐฯ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้นำเข้า เพราะจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องมาพิจารณาว่าจะมีแนวทางในดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศและผู้บริโภค
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย