- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 29 September 2017 23:29
- Hits: 15615
ITD เปิดตัว 'รายงานการศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางการค้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน'
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและการพัฒนาตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD โดย ศูนย์ศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มด้านการค้าและการพัฒนา (Trade and Development Trend Analysis Center) จึงได้มีการเปิดตัว “รายงานการศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางการค้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เป็นผู้แถลงร่วมกับ ดร. ณภัทร ชัยมงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และสื่อสารองค์กร สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการ ITD กล่าวว่า “รายงานการศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางการค้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นรายงานที่ศูนย์ศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มด้านการค้าและการพัฒนา สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา โดยมีเป้าหมายเพื่อบูรณาการการศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มด้านการค้าและการพัฒนาร่วมกัน เนื่องด้วยเมื่อการค้ามีเสถียรภาพและสามารถเติบโตได้ดี ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ การค้าจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และบทสรุปเกี่ยวกับแนวโน้มของประเด็นในรายงานดังกล่าวที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย อันจะนำไปสู่การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับประเทศไทยในบริบทของการค้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะข้างหน้าต่อไป”
ในรายงานฉบับนี้ ได้ดำเนินการศึกษาประเด็นด้านการค้าที่สำคัญ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1) บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศต่อสถานการณ์การค้าโลก
แนวโน้มสถานการณ์การค้าโลกในขณะนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสมดุลและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในมิติด้านต่าง ๆ ของโลก ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน (disruptive technology) จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และเศรษฐกิจของนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา
รวมถึงประเด็นการเจรจาความตกลงทางการค้าระดับทวิภาคีและภูมิภาคจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการตกลงการค้าหลายฝ่าย (pluralistic agreements) และมีโอกาสบรรลุผลสำเร็จในการเจรจาเป็นอย่างสูง โดยในส่วนของประเทศไทย ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) จะเป็นกรอบเจรจาการค้าที่สำคัญและมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
2) การค้าผ่านระบบดิจิทัล
รูปแบบการค้าผ่านระบบดิจิทัล (digital trade) จะมีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจการค้าของนานาประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถือเป็นความจำเป็นที่ธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ต่างต้องพยายามนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการลดต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งในประเทศไทยรูปแบบการค้าผ่านระบบดิจิทัลจะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงประเทศสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก (global value chains: GVCs) โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าผ่านระบบดิจิทัลของประเทศไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องคือ การเติบโตและความนิยมของธุรกิจด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น สมาร์ทโฟน Facebook ฯลฯ จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างความตระหนักและความพร้อม ทั้งในด้านความปลอดภัย กฎหมาย หน่วยงาน กำลังคน และระบบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล
3) การค้าภาคบริการ
การค้าภาคบริการ (trade in services) มีแนวโน้มเติบโตตามภาพรวมของเศรษฐกิจโลก โดยภาคธุรกิจและผู้ประกอบการจะมุ่งเน้นการสร้างมูลค่า (value) ของสินค้าผ่านรูปแบบการบริการ (service) มากขึ้น และรูปแบบของธุรกิจภาคบริการจะได้รับผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างมาก โดยเฉพาะความก้าวหน้าในด้านดิจิทัล กล่าวคือ ธุรกิจภาคบริการจะมีรูปแบบธุรกิจใหม่เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง ด้านนวัตกรรมภาคบริการ (service innovation) ที่จะไม่จำกัดรูปแบบของนวัตกรรมอยู่เพียงแค่ในด้านการท่องเที่ยวหรือด้านสุขภาพเท่านั้น แต่จะมีรูปแบบอุบัติใหม่ เช่น การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การให้บริการธนาคารทางมือถือ (m-banking) การจัดการตราสินค้า (brand management) ฯลฯ
จากสถานการณ์แนวโน้มดังกล่าวภาคธุรกิจและผู้ประกอบการของประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ควรสร้างมูลค่าของสินค้าและปรับรูปแบบธุรกิจให้หันมามุ่งเน้นการบริการที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการขยายตัวของเขตเมือง (urbanization) คุณภาพของการบริการ (service quality) การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
4) การค้าชายแดน
ทิศทางและการขยายตัวของการค้าชายแดนจะขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมือง และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในภาพรวมของการค้าชายแดนมีแนวโน้มขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนและรายได้จากกลุ่มสินค้าสำเร็จรูป เช่น อาหาร เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ จะทยอยลดบทบาทและความสำคัญลง เนื่องจากแนวโน้มการเปิดเสรีทางการค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของประชาคมอาเซียนและกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ส่วนการค้าชายแดนด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินยังคงต้องพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนของกลุ่มประเทศอาเซียนให้มีความพร้อมมากขึ้น ขณะที่ในการเสริมสร้างศักยภาพการค้าชายแดนของประเทศไทย ภาครัฐควรพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการค้าชายแดน อาทิ ด้านระบบโลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนามาตรฐานสินค้าที่อยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน (single standards) การวางแผนการผลิตและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิต (supply chain security) ความสามารถในการผลิตสินค้าที่ปรับตามความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแพร่หลาย (mass customization) และการบริหารจัดการต่าง ๆ ให้เกิดความคล่องตัวในการค้า
ในรายงานฉบับนี้ ยังได้ดำเนินการศึกษาประเด็นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมุ่งเน้นด้านการศึกษาและแรงงาน ใน 3 หัวข้อ
1) สถานการณ์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์: การศึกษาและแรงงาน
2) แนวโน้มความท้าทายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต
3) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
โดยทั้งสองประเด็นล้วนเป็นประเด็นกุญแจพื้นฐานสำคัญต่อการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งศูนย์ศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มด้านการค้าและการพัฒนา สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา คาดหวังว่า ผลการศึกษาปรากฏดังรายละเอียดในรายงานฉบับนี้ จะนำไปสู่การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับประเทศไทยในบริบทของการค้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะข้างหน้าต่อไป