WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ ผนึก ม.ธรรมศาสตร์ ศึกษาผลกระทบต่อ ศก.ไทย ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

    นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นเครื่องมือ ทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไปว่าสามารถคาดการณ์และประเมินสถานการณ์และผลกระทบได้อย่างใกล้เคียงความจริง

    ประเทศไทยได้ใกล้เข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558 ทำให้การนำเข้าส่งออกสินค้าเสมือนไม่มีพรมแดน รวมถึงการเคลื่อนย้ายของแรงงานและทุนข้ามประเทศที่มากขึ้น ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องมีการเตรียมการรับมือและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า จึงร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “โค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Countdown AEC)”ในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เพื่อเผยแพร่ผลการวิเคราะห์และมุมมองเชิงวิชาการต่อผลที่มีต่อไทยในการเข้าสู่ AEC ดังนี้

   1. ผลจากแบบจำลอง GTAP (แบบจำลองการค้าโลก) แสดงให้เห็นว่าการเข้าสู่ AEC จะช่วยให้การส่งออกโดยรวมของไทยขยายตัวมากขึ้นร้อยละ 1.32 ต่อปี โดยสาขาสินค้าที่ได้ประโยชน์มีการขยายตัวของการส่งออกสูงขึ้นได้แก่ สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป น้ำตาล น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ เคมีและปิโตร สินค้าที่การส่งออกขยายตัวไม่มากนัก ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ ประมง เหมืองแร่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร สินค้าที่ส่งออกลดลงได้แก่ เนื้อสัตว์แปรรูป และสิ่งทอ เนื่องจากการแข่งขันจากประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน ในขณะที่การนำเข้า น้ำมันดิบ ถ่านหิน และบริการสาธาณูปโภค จะสูงขึ้น

  2. แบบจำลอง Dynamic CGE พบว่าหากการเข้าสู่ AEC ทำให้การส่งออกรายสาขาของไทยเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 0.98% และทำให้ครัวเรือนและรัฐบาลมีรายได้สูงขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 0.99% และ 0.96% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ดีอาจจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 0.22

     นอกจากนี้การขยายตัวของการส่งออกยังทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่สูงขึ้น ซึ่งควรสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและยกระดับทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง

   ทั้งนี้ หากภาคการผลิตและบริการทั้งประเทศสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างต่อเนื่องที่อัตราร้อยละ 1 ต่อปี จะสามารถลดความต้องแรงงานได้ถึง 1.46 ล้านคนในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติของภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทย

   นางอัมพวัน กล่าวถึงแนวทางการเตรียมตัวและการปรับตัวของภาคเอกชนไทย โดยต้องให้ความสำคัญกับตลาด AEC และมอง AEC เป็นตลาดการค้า  ผืนเดียวกับไทย มีการเชื่อมโยงฐานการผลิต เพื่อให้ส่งเสริมการค้าระหว่างกัน สร้างพันธมิตร ศึกษากฎระเบียบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะทำงานแบบบูรณาการกับภาคเอกชนและสถาบันวิชาการอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคเอกชน รวมทั้งขอให้ภาคเอกชนนำผลการศึกษาข้างต้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการวางกลยุทธ์เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!