- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 27 August 2017 21:45
- Hits: 2541
พาณิชย์เคาะส่งออกโต 6% จับตาค่าเงินหวั่นเสียเปรียบคู่แข่ง
แนวหน้า : นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงได้ทำการปรับเพิ่มประมาณการส่งออกปี 2560 เป็นขยายตัว 5-6% จากเป้าเดิมที่ 5% เนื่องจากการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องโดยตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ส่งออกมีมูลค่า 18,852 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.5% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเมื่อรวม 7 เดือนแรกของปีนี้การ ส่งออกมีมูลค่า 132,399 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.2% สูงสุดในรอบ 6 ปี
ทางด้านการนำเข้าในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 19,040 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 18.5% เมื่อรวม 7 เดือนแรกของปีนำเข้ามีมูลค่า 125,616 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.5% และดุลการค้าเดือนกรกฎาคม ขาดดุล 188 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่เมษายน 2558 แต่เมื่อรวมด้าน 7 เดือนแรกของปี2560 ดุลการค้ายังคงเกินดุล 6,783 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ขยายตัวดีนั้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะตลาดจีน ตะวันออกกลาง CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และสหรัฐ โดยมองว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากจะให้การส่งออกเติบโตได้ถึง 6% ช่วง 5 เดือน จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ย 19,182 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.1% ต่อเดือน
"อีกทั้งต้องจับตาการมอบนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมามอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ในวันจันทร์ 28 สิงหาคมนี้ ว่าจะมอบหมายเป้าการส่งออกใหม่หรือไม่" นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว
นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่าการส่งออกอาจจะเติบโตได้มากกว่า 6% แต่ตอนนี้ยังมองแค่ 6% ส่วนผลกระทบในเรื่องสหรัฐคว่ำบาตรเกาหลีเหนือนั้น ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อไทย เนื่องจากสินค้าที่ถูกคว่ำบาตร เช่น อาวุธ พลังงาน ถ่านหิน น้ำมัน ซึ่งไทยไม่มีการส่งออก สินค้าดังกล่าวไปเกาหลีเหนือ และปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกของไทยไปเกาหลีเหนือมีเพียง 0.01% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับ กรณีที่ดุลการค้าเดือนกรกฎาคมที่ขาดดุล 188 ล้านดอลลาร์นั้นยอมรับว่า เป็นผลจากการเก็งกำไรทองคำเป็นหลักเนื่องจากสถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอน นักลงทุนจึงวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งมองว่าไทยอาจยังขาดดุลการค้าต่อเนื่องอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ทั้งนี้ หากหักทองคำ จะพบว่า ดุลการค้าเกินดุล 1,087 ล้านดอลลาร์
ส่วนการส่งออกของปีนี้ แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่เติบโตดี โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าในเอเชีย สินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการสามารถกลับมาขยายตัว ได้ในระดับสูง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และยาง การส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยเฉพาะการส่งออกยางพาราที่ขยายตัวทั้งจากปริมาณและราคา
ด้านสมมุติฐานค่าเงินบาท กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์ค่าเงินบาทปีนี้มี แนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยมองกรอบไว้ที่ 34-36 บาทต่อดอลลลาร์ จากเดิมมองที่ 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ มองที่ 45-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ยังมองว่า สหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งผลให้ลดแรงกดดันต่อเงินบาทได้บ้าง
"ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตามอง คือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ที่ยังต้องติดตาม แต่มองว่า ค่าเงินบาทจะส่งผลกระทบ ต่อความสามารถในการแข่งขัน และการส่งออกในระยะสั้นเท่านั้น โดยผู้ประกอบการจะต้อง เตรียมพร้อมเพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ประเมินว่าสินค้าข้าว ผลิตภัณฑ์สำปะหลัง อาหาร และยางพารา จะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าสินค้ากลุ่มอื่น" นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว