- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 07 August 2017 19:39
- Hits: 5572
ก.พาณิชย์ แนะผู้ประกอบการชาสมุนไพรไทยบุกชิลี ใช้ประโยชน์ยกเว้นภาษีจากเอฟทีเอ
ก.พาณิชย์ระบุชาวชิลีดื่มชามากที่สุดในละติน มีสัดส่วนการดื่มชาในประเทศ39% แนะผู้ประกอบการชาสมุนไพรไทยบุกชิลี ใช้ประโยชน์ยกเว้นภาษีจากเอฟทีเอ
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก ประเทศชิลี ว่า ตลาดชาในชิลีมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนำหน้าตลาดกาแฟ โดยในปี 2559 เครื่องดื่มชาครองตลาดที่สัดส่วนร้อยละ 39 ของตลาดเครื่องดื่มร้อนทั้งหมดในประเทศชิลี ขณะที่เครื่องดื่มกาแฟมีสัดส่วนตลาดที่ร้อยละ 19
“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชาวชิลีมีการบริโภคชาเพิ่มมากขึ้น โดยมีรายงานว่าชาวชิลีดื่มชามากเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคลาตินอเมริกา (รองลงมาได้แก่ อาร์เจนตินา อุรุกวัย โบลิเวีย และเปรู) ข้อมูลจาก World Trade Atlas ระบุว่า ชิลีมีการนำเข้าชาจากประเทศศรีลังกามากที่สุด แต่ยังไม่มีการนำเข้าจากประเทศไทย จึงเป็นโอกาสของชาจากประเทศไทย โดยเฉพาะชาสมุนไพรที่จะเข้าไปบุกตลาดนี้ ทั้งนี้ สินค้าชาเป็นรายการสินค้าที่อยู่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอไทย – ชิลี ทำให้ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ผู้ประกอบการไทยจึงสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้ในการเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าชิลีได้ด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
สำหรับ มูลค่าตลาดนั้น Euromonitor ได้สำรวจมูลค่าการจำหน่ายชาในห้างค้าปลีกชิลีพบว่า ในปี 2559 มีมูลค่าอยู่ที่ 192 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือที่ปริมาณ 15 ตัน และคาดว่าในปี 2560 นี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 และในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 225 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือที่ปริมาณ 17.8 ตัน
ปัจจุบันกระแสรักสุขภาพเป็นที่นิยมในชิลีและประเทศในลาตินอเมริกา ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารจากธรรมชาติจึงนับเป็นโอกาสของชาสมุนไพรไทย ซึ่งมีสรรพคุณในการลดน้ำหนักหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ เช่น ชาขิง ชากระเจี๊ยบ ชาใบเตย ชาชุมเห็ดเทศ ชาดอกคำฝอย และชาใบฝรั่ง นอกจากเป็นโอกาสดีต่อการส่งออกชาสมุนไพรไทยแล้ว ยังเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยในการเปิดธุรกิจร้านเครื่องดื่มชาเพื่อสุขภาพด้วยเช่นกัน
นางสาวจุฬาลักษณ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก กล่าวเสริมว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าชาในประเทศชิลีนั้น มีเพียงกฎระเบียบด้านการติดฉลาก ซึ่งกฎหมายระบุว่า สินค้าอาหารและเครื่องดื่มทุกประเภทจะต้องปิดฉลากสินค้าเป็นภาษาสเปนในการให้ข้อมูลต่างๆ เช่น น้ำหนัก ปริมาณบรรจุ วันผลิต วันหมดอายุ ประเทศผู้ผลิต ชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าพร้อมที่อยู่ เป็นต้น โดยผู้ประกอบการที่สนใจบุกตลาดชิลีควรคำนึงถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามสะดุดตาด้วย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย