- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 06 August 2017 17:16
- Hits: 7740
ปลัดพาณิชย์ เผยปี 60 ไทยมีอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมในภาพรวมสูงขึ้น
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยได้รับรายงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ว่า ผลการจัดอันดับตามรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ในปีนี้ประเทศไทยดีขึ้นทั้งคะแนนและอันดับต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
"ในปี 2560 ประเทศไทยมีความสามารถด้านนวัตกรรมในภาพรวมสูงขึ้น ผลการจัดอันดับดีขึ้นทั้งโดยคะแนนและอันดับ โดยคะแนนภาพรวมในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 37.57 เปรียบเทียบกับ 36.51 ในปี 2559 และมีอันดับเลื่อนขึ้นจาก 52 ในปี 2559 เป็น 51 จาก 127 ประเทศ ในปี 2560 ซึ่งตั้งแต่ปี 2558-2560 ไทยมีอันดับดีขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว" น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว
ทั้งนี้ WIPO ร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลของสหรัฐฯ และสถาบันบริหารธุรกิจ INSEAD ได้รายงานดัชนีชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรม The Global Innovation Index (GII) ประจำปี 2560 ครั้งที่ 10 ภายใต้ Theme “Innovation Feeding the World" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดอันดับผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมของ 127 ประเทศ ใช้ตัวชี้วัด 81 ตัว เน้นความสำคัญเรื่องภาคการเกษตรและอาหาร เนื่องจากปัจจุบันโลกมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงมีความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น แต่มีทรัพยากรที่จำกัดจึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการ รวมทั้งแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นวัตกรรมจึงถือเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญโดยจะส่งผลในระยะยาว
นอกจากนี้ รายงานฯ ยังได้มีการเสนอระบบ “Digital Agriculture" และ “Smart Agriculture" ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและสร้างแบบจำลองทางธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการในระดับโลกได้ โดยการพัฒนาศักยภาพเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจำนวนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิบัตรสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการได้เช่นกัน
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เนื่องจากอันดับที่เพิ่มขึ้นของปัจจัยผลผลิตจากการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งไทยมีจำนวนการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสูงสุดในกลุ่มอาเซียน และมีจำนวนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอันดับที่ 2 รองจากเวียดนาม ตลอดจนเป็นประเทศอันดับที่ 5 ของโลกที่มีการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ และเป็นอันดับที่ 6 ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของภาคธุรกิจ โดยสวิตเซอร์แลนด์ยังคงเป็นอันดับ 1 ด้านผู้นำนวัตกรรมโลกอย่างต่อเนื่อง โดยมีคะแนนรวมทั้งหมด 67.69 คะแนน รองลงมาคือ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักร ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income: HI)
ส่วนโซนทวีปเอเชียและแปซิฟิก พบว่า ประเทศที่มีนวัตกรรมค่อนข้างสูง ได้แก่ สิงคโปร์ (ลำดับที่ 7) เกาหลีใต้ (ลำดับที่ 11) ญี่ปุ่น (ลำดับที่ 14) ฮ่องกง (ลำดับที่ 16) นิวซีแลนด์ (ลำดับที่ 21) สาธารณรัฐประชาชนจีน (ลำดับที่ 22) และออสเตรเลีย (ลำดับที่ 23) ส่วนใน ASEAN มีประเทศที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพียงประเทศเดียว คือ สิงคโปร์ (อันดับที่ 7) รองลงมา คือ มาเลเซีย (อันดับที่ 37) และเวียดนาม (อันดับที่ 47)
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รายงานดัชนี GII เป็นการรายงานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศในด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศ ภูมิภาคและโลก ดังนั้นกระทรวงฯ จึงได้ใช้กลยุทธ์ “การตลาดนำการผลิต" เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา และตราสินค้า เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทยต่อไปในอนาคตและก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป
อินโฟเควสท์