WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สกัด‘รายใหญ่’ค้าขายไม่เป็นธรรม พาณิชย์รื้อเกณฑ์การแข่งขัน ก่อนเปิดประชาคมอาเซียน

     แนวหน้า: นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ก.ย. 2557 ที่จะถึงนี้จะมีการประชุม คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งทางกรมการค้าภายในเตรียมที่จะมีการเสนอให้คณะกรรมการได้พิจารณา ทบทวน หลักเกณฑ์ การควบรวมกิจการ ภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ใหม่ เนื่องจากทางคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) มีการเสนอขอให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง โดยดูจากส่วนแบ่งตลาด และยอดขาย รวมถึงเตรียมเสนอให้พิจารณาทบทวนเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด ที่ปัจจุบันมีการใช้เกณฑ์ การดูธุรกิจที่ ส่วนแบ่งการตลาดที่ 50% และยอดขายที่ 1,000 ล้านบาทอาจมีการเสนอให้ทบทวนลดส่วนแบ่งการตลาดลงมาที่ 30%

   ทั้งนี้ เพื่อให้การปรับปรุง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าเพื่อใช้ดูแลการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติหลัง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2558 เนื่องจากในอนาคต นักลงทุนในอาเซียนเข้ามาลงทุน และร่วมทุนทำธุรกิจในไทยมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันทำธุรกิจ โดยปัจจุบันกฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ของไทย ซึ่งบังคับใช้มากว่า 15 ปี แต่การบังคับใช้กฎหมาย ยังทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากติดขัดในเรื่องความชัดเจนในการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่างๆของกฎหมาย

    นอกจากนี้ จะเสนอให้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยได้ร้องเรียนบริษัทแห่งหนึ่งขายไข่ไก่ต่ำกว่าทุนส่งผลให้ราคาไข่ไก่ตกต่ำ, กลุ่มผู้ผลิตสุราพื้นบ้านร้องเรียน กรณีที่มีเอเย่นต์ขายสุราในภาคเหนือไม่ยอมนำสุราที่ผลิตโดยชุมชนมาขายในร้านฯลฯ

   ด้าน น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ มีผลบังคับใช้ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีแนวคิดที่จะจัดตั้งสำนักหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อเข้ามาศึกษา หาแนวทางในการนำสิ่งต่างๆ เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อ โดยขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางเพิ่มเติมในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะร้านค้าปลีกและค้าส่งที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีที่ดิน แต่มีเฉพาะห้องเช่าสามารถนำสินทรัพย์ต่างๆ นอกเหนือจากที่ดิน โรงงาน และเครื่องจักร มาค้ำประกันขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย หลังจากปัจจุบันภาคธุรกิจจำนวนมากประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องจนมีผลต่อการดำเนินกิจการ

    ในเบื้องต้นจะเน้นผลักดันให้สามารถนำสินค้าในสต๊อก นวัตกรรม รวมถึงลูกค้าหรือลูกหนี้ที่มีคำสั่งซื้อ ที่ยังค้างชำระมาค้ำประกันขอสินเชื่อ เป็นต้น

    “แนวคิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนำลูกค้า หรือลูกหนี้มาเป็นหลักประกันสินเชื่อนั้น คงต้องดูว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หากทำได้ก็จะเร่งดำเนินทันที เพราะลูกค้าที่ยังไม่ได้ชำระเงินก็ถือว่าเป็นหลักทรัพย์อย่างหนึ่งซึ่งสามารถตีราคาได้ตามมูลค่าของคำสั่งซื้อ” น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!