- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 02 July 2017 22:21
- Hits: 13818
รมว.พาณิชย์ เผยเดินสายพบเกษตรกรภาคอีสานพอใจมาตรการข้าวที่มีความยั่งยืน
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ได้มอบหมายให้นายวิจักร วิเศษน้อย ที่ปรึกษาฯ ลงพื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขตภาคอีสาน 3 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และยโสธร เพื่อหารือเรื่องมาตรการข้าวร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ข้างเคียง ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ กาฬสินธ์ มหาสารคาม รวมทั้งตัวแทนผู้ส่งออกและตัวแทนโรงสี โดยมีสัญญาณเชิงบวกต่อมาตรการข้าวที่รัฐบาลนำมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา
"การหารือกับเกษตรกรในครั้งนี้พบว่ามีสัญญาณเชิงบวกกับมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ และไม่ได้ต้องการเรียกร้องในเรื่องของราคาข้าวที่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด" นางอภิรดี กล่าว
โดยมาตรการที่เกษตรกรมีความพึงพอใจ ได้แก่ การช่วยเหลือต้นทุนการผลิตและค่าเก็บเกี่ยว โครงการชะลอการจำหน่ายข้าวในยุ้งฉาง ซึ่งเกษตรกรมีความเห็นว่าควรเร่งประกาศราคาสินเชื่อและค่าฝากเก็บก่อนผลผลิตออก ส่วนเรื่องยุ้งฉางที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นควรให้เกษตรกรสามารถนำข้าวไปร่วมโครงการได้โดยฝากเก็บไว้กับโรงสีหรือกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ยังพบอีกว่าความต้องการของเกษตรกรที่แท้จริงไม่ใช่การจำนำข้าว หรือการนำเงินไปให้ แต่แท้จริงแล้วเกษตรกรต้องการความยั่งยืนจากจากทำอาชีพเกษตรกรรมมากกว่า โดยเกษตรกรมีข้อเรียกร้องขอให้รัฐช่วยในเรื่องเครื่องจักรกลทางการเกษตร และการลดต้นทุนการผันน้ำโดยใช้แผงโซลาเซลล์แทนการใช้น้ำมันหรือไฟฟ้า นอกจากนี้เกษตรกรยังไม่มีแผนในการบริหารจัดการเครื่องจักรกลจึงได้มอบให้ ธกส.ช่วยจัดทำแผนธุรกิจให้
ส่วนเรื่องน้ำซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเพาะปลูก เกษตรกรอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องของการสำรวจแหล่งน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งช่วยเรื่องช่องทางการจำหน่ายตรงให้แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันผลกระทบจากโครงการจำนำข้าวทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจจึงขาดการพัฒนาด้านการผลิตจึงเห็นว่าควรให้มีการส่งเสริมให้พัฒนาตั้งแต่การผลิตจนกระทั่งการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ในครั้งหน้าจะมีการลงพื้นที่ในภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ได้แก่ เชียงราย แพร่ พิษณุโลก
รมว.พาณิชย์ สั่งสำรวจผลผลิตสินค้าเกษตรเพื่อหาตลาดรองรับแก้ปัญหาราคาตกต่ำ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดสำรวจผลผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าผลไม้ในพื้นที่ เพื่อวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล การเชื่อมโยงตลาดระหว่างจังหวัด รวมทั้งส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่ค้า เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการกระจายสินค้าเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง ซึ่งผลไม้มีปลูกมากในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอื่นๆ โดยในภาคตะวันออกจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาและจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี ต่อด้วยผลผลิตจากภาคใต้จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่วนภาคเหนือจะมีลิ้นจี่ ส้มเขียวหวาน ลำไย จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี ขณะที่สับปะรดเป็นผลไม้ที่ไม่มีฤดูกาลสามารถออกสู่ตลาดได้ทั้งปี
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและบริโภคสินค้าผลไม้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผลไม้ในภาคตะวันออกเริ่มทยอยออกสู่ตลาด โดยได้จัดงานมหานครผลไม้ 2017 ขึ้นที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเชิญชวนทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วม ชม ชิม และช็อปผลไม้ในงาน อีกทั้งได้จัดงานบุฟเฟต์ทุเรียนและผลไม้ไทยในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต อุดรธานี และห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง จำหน่ายได้ราคาดี และผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 80-90 โดยเฉพาะทุเรียนออกสู่ตลาดแล้วกว่าร้อยละ 90 ราคาจำหน่ายปลีกทุเรียนหมอนทอง (ระยอง เมื่อ 28 มิ.ย.60) 120/140 บาท/กก. เงาะโรงเรียนคละราคา 35-45 บาท/กก.
สถานการณ์ผลไม้ในภาคใต้ซึ่งมีจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลักคาดการณ์ว่าผลผลิต เริ่มออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือนกรกฎาคมและออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนสิงหาคม 2560 โดยจังหวัดชุมพรเป็นแหล่งรวบรวมผลไม้ที่สำคัญของภาคใต้ทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง และเงาะ โดยทุเรียนของภาคใต้จะส่งไปจำหน่ายในประเทศจีนประมาณ 65 % ที่เหลือจำหน่ายใน กทม.และกระจายในประเทศ ส่วนมังคุด จะมีทั้งส่งออก จำหน่ายภายในประเทศและเข้าโรงงานแปรรูป โดยที่ผลผลิตผลไม้ของภาคใต้ในปีนี้จะลดลงจากปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะลองกอง และเงาะ เนื่องจากอากาศแปรปรวน ฝนตกชุกทำให้ผลไม้ออกล่าช้าและติดผลน้อย คาดว่าราคาผลไม้ของภาคใต้จะอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องเช่นเดียวกับภาคตะวันออก
สำหรับ สับปะรดมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากในปีที่ผ่านมาผลผลิตราคาดีมาก เช่น สับปะรดห้วยมุ่น อุตรดิตถ์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 250% เมื่อเทียบกับปี 2559 จึงส่งผลกระทบต่อราคาในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดสำรวจปริมาณการผลิตทั่วประเทศ เพื่อประกอบการวางแผนการตลาดในปีต่อไป
อินโฟเควสท์