- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 18 May 2017 19:19
- Hits: 3178
ก.พาณิชย์ มุ่งขยายการค้าการลงทุนของไทยสู่ One Belt, One Road ตามแนวคิดจีน ระบุชูธุรกิจ SMEs ผ่านช่องทางออนไลน์-ดันศก.พิเศษภาคตะวันออก
ก. พาณิชย์เผยเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยภายใต้หัวข้อ 'ความเชื่อมโยงทางการค้า' และร่วมแสดงข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของไทยในการสนับสนุนแนวคิดและเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเข้ากับยุทธศาสตร์ One Belt, One Road (OBOR) ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนที่เป็นรูปธรรม ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมการประชุม BRF ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงครั้งแรกนับตั้งแต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนประกาศข้อริเริ่ม One Belt, One Road (OBOR) เมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยการประชุมในครั้งนี้ มีผู้นำกว่า 29 ประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศ จากกว่า 130 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม อาทิ ประธานาธิบดีรัสเซีย (นายวลาดิเมียร์ ปูติน) ประธานาธิบดีตุรกี (นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน (นายนาวาซ ชารีฟ) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (นายอังตอนีอู กูแตรึช) ประธานธนาคารโลก (นายจิม ยอง คิม) และประธาน IMF (นางคริสติน ลาการ์ด) เป็นต้น เพื่อหารือถึงแนวทางการขยายความเชื่อมโยงทางกายภาพทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนผ่านการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
โดยมีแผนการขับเคลื่อนแนวคิด OBOR ของจีน และการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยมีความสอดคล้องและเอื้อต่อกัน ได้แก่
1. ความเชื่อมโยงด้านนโยบาย ไทยและจีนต่างให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคการผลิต เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี กล่าวคือ นโยบาย Made in China 2025 กับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curves ของไทย กำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
2. ความเชื่อมโยงด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ โครงข่ายรถไฟ/รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ และสนามบิน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่ง และช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ในการนี้ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) และ Silk Road Fund จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการลงทุนและดำเนินโครงการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม
3. ความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและดิจิทัล นโยบาย Internet Plus & Information Highway ของจีน และการพัฒนา Digital Economy ของไทย เน้นการใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ ด้วยระบบดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต รวมถึงการรองรับรูปแบบการค้าสมัยใหม่ผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และระบบชำระเงินดิจิทัล
4. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ไทยและจีนต่างให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและการพัฒนาธุรกิจ Startups เพื่อให้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจมีการแบ่งปันอย่างทั่วถึงและเป็นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน ภาครัฐต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการประกอบธุรกิจและการใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้าใหม่ๆ อาทิ e-Commerce เป็นต้น
5. ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจ และเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน
ทั้งนี้ ในการประชุมห้องย่อยในหัวข้อความเชื่อมโยงทางการค้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการค้าที่ยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพของ SMEs ที่มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 99 ของเศรษฐกิจไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมยกตัวอย่างการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่จะเชื่อมโยงกับ Belt and Road Initiative โดยไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยมีเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ และถนนเชื่อมโยงจีน-ลาว-ไทย ตลอดจนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด-ดานังทางตะวันออกกับท่าเรือในเมียนมาร์ทางตะวันตก สนามบินนานาชาติและศูนย์ซ่อมบำรุง นอกจากนั้น EEC ยังเป็นศูนย์สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการพัฒนานวัตกรรม Smart City ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ เน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ มหาวิทยาลัย และชุมชนท้องถิ่น
การประชุม BRF ครั้งนี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของจีนในการขยายบทบาทและแสวงหามิตรประเทศที่จะช่วยสนับสนุนให้จีนบรรลุเป้าหมายการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมากจากประเทศต่างๆ ทั้งที่อยู่ในเส้นทาง Belt and Road และประเทศคู่ค้าสำคัญในทวีปยุโรปและอเมริกาใต้ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน ได้ใช้โอกาสนี้ในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค โดย EEC ของไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนให้กับนักลงทุนจีนเพื่อขยายโอกาสไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน (China – Indochina Economic Corridor)
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย