- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 06 May 2017 18:06
- Hits: 14474
เริ่มแล้ววันนี้ งานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา IP Fair 2017 ปูทางสร้างเวทีให้นักประดิษฐ์ นักวิจัย ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ก้าวย่างสำคัญสู่ศูนย์กลางการสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม ตอบโจทย์ Thailand 4.0
เปิดแล้ววันนี้กับงาน 'มหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IP Fair 2017'ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคมศกนี้ ณ ฮอลล์ 103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ งานแสดงที่รวบรวมผลงานนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาครั้งยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด’นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า (Innovation for Life & Better Future)’พบกับผลงานนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญากว่า 250 ผลงานกว่า 6 กลุ่มอุตสาหกรรมมาจัดแสดง หวังช่วยปูทางสร้างเวทีให้นักประดิษฐ์ นักวิจัย ผู้สร้างสรรค์ผลงานไทย สนับสนุนผลผลิตจากมันสมองของคนไทย เพื่อก้าวย่างสำคัญสู่การเป็นศูนย์กลางการสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม ตอบโจทย์ Thailand 4.0
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์(Commercialization) ของกรมฯ สนับสนุนให้ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะผลงานที่มีนวัตกรรมสามารถออกสู่ตลาดและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยกิจกรรมหนึ่งของกรมฯ ในการผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือการจัดงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (IP Fair 2017) งานแสดงสินค้าและผลงานนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคม 2560 นี้ ณ ฮอลล์ 103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า (Innovation for Life & Better Future)' เพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการไทยใส่ใจและให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญา สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และเป็นโอกาสของนักประดิษฐ์ นักวิจัย ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ที่จะได้มีเวทีในการนำเสนอผลงาน อีกทั้งเป็นช่องทางที่จะ ได้พบปะกับผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกเพื่อเจรจาทางการค้า โดยงานปีนี้มี ผู้ประกอบการ เจ้าของผลงานทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ Start Up เข้าร่วมนำเสนอผลงาน จำนวนว่า 250 ราย กว่า 6 กลุ่มอุตสาหกรรมมาจัดแสดง ได้แก่ 1. อุปกรณ์ด้านไอที 2. เครื่องสำอาง 3. แฟชั่นและเครื่องนุ่งห่ม 4. อาหารและเครื่องดื่ม 5. อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ และ 6. เครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ โดยคาดว่ามูลค่าการซื้อขายภายในงานและการเจรจาธุรกิจจะมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท”
“ภายในงานจะเน้นการแสดงนวัตกรรมและผลงานทรัพย์สินทางปัญญา โดยแบ่งพื้นที่จัดงาน ออกเป็นโซนต่างๆ ได้แก่
- นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ'ภูมิราชา'จัดแสดงสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ซึ่งกรมฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 11 ฉบับ
- โซนจัดแสดงผลงานนวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในรูปแบบ Pavilion และคูหามาตรฐาน
- โซน IP Champion จัดแสดงผลงานของผู้ได้รับรางวัล IP Champion ที่ประสบความสำเร็จจากการนำ ทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม
- โซน Start up ที่นำเสนอแนวคิดการดำเนินชีวิต และธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของอนาคต ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
- โซน Retail จัดจำหน่ายสินค้าทรัพย์สินทางปัญญา โซน GI, GI Caf?, GI Showcase จัดแสดงสาธิตและ จำหน่ายสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
- โซน Business Matching พื้นที่เจรจาจับคู่ธุรกิจ
- โซน IP Clinic ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา
- โซน Maker Space เปิดพื้นที่การเรียนรู้แนวใหม่ตอบสนอง นักคิด นักนวัตกรรม ให้มีเวทีในการ สร้างสรรค์ผลงาน สานฝันสู่การเป็นมืออาชีพ
- การจัดกิจกรรม Pitching และกิจกรรมสัมมนา/เสวนา เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ การใช้เครื่องมือในการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรเพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม ทิศทางเทคโนโลยี ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการใช้นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนธุรกิจ (Innovative Driven Enterprise)
กิจกรรมเหล่านี้จะกระตุ้นการสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักและเห็นคุณค่าความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นรากฐานการสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในยุค 4.0 อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน”นายทศพลกล่าว
สำหรับ ตัวอย่างสินค้านวัตกรรมที่น่าสนใจ และสามารถต่อยอดในเชิงการค้าได้นั้น ได้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนไป โดยมีทิศทางและแนวโน้มในการพัฒนานวัตกรรมให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนเมืองมากขึ้น จะเห็นได้ชัดจากนวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่ม มีการพัฒนาจัดทำในรูปแบบของอาหารเพื่อพร้อมรับประทาน Ready to Eat มีความสะดวกรวดเร็วแต่ยังคงไว้ซึ่งคุณประโยชน์ อาทิ ผงมะพร้าวน้ำหอม ข้าวลดความอ้วน ข้าวเหนียวเปียกกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงการพัฒนาอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน อาทิ ขนมจีนเส้นบุก เป็นต้น การหันมาคำนึงผลทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการใช้วัสดุเหลือใช้เพื่อพัฒนานวัตกรรม อาทิ บรรจุภัณฑ์กินได้ ผลงานของใช้ในครัวผลิตจากขุยมะพร้าว เป็นต้น
การพัฒนาชิ้นงานในลักษณะ Multi-Purpose อาทิ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อสุขภาพองค์รวม ซึ่งสามารถใช้งานได้ดีและดีต่อสุขภาพด้วย การพัฒนานวัตกรรมโดยคำนึงถึงด้านการทำตลาดและจัดจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากต้องคำนึงถึงประโยชน์ด้านการใช้สอยเป็นหลักแล้ว SMEs ต้องคำนึงถึงการทำตลาดรวมถึงราคาที่ตลาดสามารถรับได้อีกด้วย การเริ่มขยายการพัฒนาให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการมากขึ้น อาทิ ถุงมืออัจฉริยะ อุปกรณ์วัดระยะทางที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้พิการในการตรวจหาวัตถุในระยะที่กำหนด หุ่นยนต์เสริมการฝึกด้านการสื่อสารเด็กออทิสติก หุ่นยนต์ช่วยบำบัดและเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการขยายตลาดเพื่อต่อยอดการพัฒนาอย่างครบวงจร กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการ ประชาชนและผู้สนใจ เข้าร่วมชมงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (IP Fair 2017) ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 4 ถึงวันอาทิตย์ 7 พฤษภาคม 2560 เวลา 10.00–20.00 น. ณ ฮอลล์ 103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา โดยผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของงาน สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.ipfairthailand.com หรือ Facebook: ipthailand หรือ LINE@: @ipthailand