- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 01 May 2017 10:46
- Hits: 3574
พาณิชย์ เตรียมจัดตั้ง Startup Complex ส่งเสริม-พัฒนาผู้ประกอบการ ทำตลาดใน-ตปท.ครบวงจร
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจไทย ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงได้บูรณาการร่วมกันภายในกระทรวง จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อการค้าระหว่างประเทศอย่างครบวงจร หรือ Startup Complex โดยร่วมมือกันระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายใน และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
"กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการนี้ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน Startup กลุ่มผลิตภัณฑ์/ธุรกิจบริการ และแฟรนไชส์ที่มีศักยภาพในตลาดระดับประเทศและระดับสากล โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ กรมการค้าภายในจะพัฒนาตลาดภายในประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อให้สามารถสร้างผู้ประกอบการและธุรกิจไทยให้มีความเข้มแข็งได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสามารถพัฒนากระบวนการดำเนินงานของภาครัฐให้เกิดการบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถปรับตัวพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์การค้าโลกและเทคโนโลยี" รมว.พาณิชย์กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ แบ่งได้เป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อการค้าระหว่างประเทศอย่างครบวงจร หรือ Startup Complex ณ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถนนรัชดาภิเษก เพื่อเป็นสถานที่และศูนย์กลางสำหรับพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และกลุ่ม Startup
ส่วนที่สอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสในการขยายตลาด โดยคัดเลือกผู้ประกอบการ วิเคราะห์ศักยภาพ/สถานการณ์ตลาด บ่มเพาะเชิงปฏิบัติการให้สามารถพัฒนารูปแบบธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่ม เข้าสู่ตลาดและแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่าย ประสานเชื่อมโยง บูรณาการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนให้เกิดการพัฒนาอย่างครบวงจร เช่น การสร้างนวัตกรรม การหาแหล่งเงินทุน และการเสนอแนะแก้ไขปัญหาอุปสรรคเชิงนโยบาย
ส่วนที่สาม การส่งเสริมพัฒนากลยุทธ์การตลาดและการสร้างช่องทางการตลาดในประเทศ โดยกรมการค้าภายในจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและจำหน่ายสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และ Startup เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นความต้องการของตลาดใน 6 พื้นที่ส่วนภูมิภาค อีกทั้งจะเชิญผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า-ส่งออกเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาการค้า จับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายการตลาด (Business Matching และ Networking) นับเป็นการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน SMEs และ Startup ที่มีศักยภาพของแต่ละภูมิภาค
ส่วนที่สี่ การส่งเสริมพัฒนากลยุทธ์การตลาดและการสร้างช่องทางการตลาดต่างประเทศ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตลาดต่างประเทศ อาทิ การเชิญนักธุรกิจ/ผู้นำเข้าจากต่างประเทศมาเจรจาการค้าในประเทศไทย (Sourcing Forum) การส่งเสริมธุรกิจบริการสร้างสรรค์สู่สากล และการผลักดันสินค้าไทยสู่สากล
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นอกจากสี่ส่วนหลักข้างต้นแล้ว Startup Complex ณ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถนนรัชดาภิเษก ยังเป็นที่ตั้งของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ New Economy Academy หรือ NEA ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ บริหารจัดการองค์ความรู้จากทุกหน่วยงาน พัฒนาหลักสูตรการค้ายุคใหม่ อาทิ New Economy Foundation/ New Economy Driver /New Economy Connector และ New Economy Amplifier พร้อมทั้งจัดสรรอุปกรณ์ เครื่องมือ เทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ตลอดจนให้บริการคำปรึกษาแก่ประชาชนและผู้ประกอบการไทยทุกระดับที่ต้องการพัฒนาศักยภาพอย่างเร่งด่วนภายใต้การเปลี่ยนแปลงในโลกเศรษฐกิจยุคใหม่นี้ เพื่อให้การบรูณาการการทำงานทั้งกระทรวงพาณิชย์และเครือข่ายทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างสัมฤทธิ์ผล และสามารถสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างครบวงจรให้แก่นักธุรกิจทุกระดับอย่างยั่งยืนต่อไป
รมว.พาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์มุ่งหวังให้โครงการ Startup Complex เป็นศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอย่างครบวงจร เป็นกลไกในการพัฒนาผู้ประกอบการและธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มุ่งเน้นการเชื่อมโยงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างเป็นระบบ ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการและธุรกิจไทยจะได้รับการพัฒนาสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล โดยผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน จะได้รับการพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันและขยายตลาดได้ในประเทศและต่างประเทศ
อภิรดี ผลักดันพาณิชย์ไปสู่ SMART MINISTRY หนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกิจดิจิทัล
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงทิศทางการพัฒนาดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปี 2560-2564 ว่า กระทรวงพาณิชย์มีภารกิจในการพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาระบบการค้าให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเสริมสร้างบทบาทของผู้บริโภคเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ค้า การพัฒนาแอพพิเคชั่นเพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการและประชาชน พัฒนาช่องทางการร้องเรียนให้มีความสะดวกรวดเร็ว ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคโดยใช้ Social Network และบูรณาการกับระบบการค้าโลก ผลักดันการทำงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
การพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของกระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen Centric) นำเสนอรูปแบบและบริการที่ทันสมัยหลากหลายช่องทาง สร้างความร่วมมือในการใช้ข้อมูลร่วมกัน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Supporting Infrastructure) การพัฒนาและบริหารจัดการภายในหน่วยงาน การพัฒนาระบบการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้บริโภค ภายใต้วิสัยทัศน์การทำงาน "ฉับไว โปร่งใส มองไกล ใกล้ชิดประชาชน" โดยเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการค้าและการส่งออก การส่งเสริมธุรกิจบริการ การส่งเสริมและพัฒนาการใช้ช่องทางการค้า E-Commerce
รวมทั้งเร่งผลักดันการส่งออกในทุกภูมิภาคโดยเร่งผลักดันเชื่อมโยงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นรายคลัสเตอร์ ขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวผ่านกลยุทธ์ Strategic Partnership เน้นการผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนสูง เจาะตลาดกลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งใช้ Digital Marketing ทั้งของไทย (Thaitrade.com) เชื่อมโยงกับ Global และ Local Platform ผลักดันการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจรุ่นใหม่ และขยายลู่ทางตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพโดยมุ่งพัฒนากระทรวงพาณิชย์เข้าสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัลหรือ SMART MINISTRY
"ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้ให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปในด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านธุรกิจการค้า การทำธุรกรรมออนไลน์ การนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) การให้บริการหนังสือสำคัญนำเข้าส่งออกสินค้า หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origine) ทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลต่อไป" นางอภิรดี กล่าว
อินโฟเควสท์