- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 13 August 2014 23:39
- Hits: 2507
ตั้งสถาบันพัฒนาการค้าข้าว งบ 500 ล.รัฐ-เอกชนร่วมวงยันกองทุนชาวนาเกิดแน่
ไทยโพสต์ : สนามบินน้ำ * พาณิชย์เดินหน้าตั้งสถาบันพัฒนาการค้าข้าว ดึงตัวแทนรัฐ-เอกชนร่วมวง ทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ ทำแผนพัฒนาครบวงจร ดันไทยเบอร์หนึ่งของโลก'ชุติมา'ยันตั้งแน่ กองทุนข้าวและชาวนา ด้าน คสช. ฝากการบ้าน ดูแลข้าวโพดไม่ให้ตกต่ำ หลังเลิกจำนำ-ประกันรายได้
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลการค้าและการตลาดเพื่อการพัฒนาการผลิตและแปรรูปข้าวและผลิต ภัณฑ์แบบเบ็ดเสร็จ
โดยจะมีการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการบริหารสถาบัน ประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องข้าวในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการเพาะปลูก การผลิต และการตลาด
"สถาบันฯ จะเข้าไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต การสีแปร และการทำตลาดส่งออก โดยจะมีข้อมูลในทุกๆ ด้านอย่างครบวงจร เพื่อทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องข้าว และจะได้วางแผนการผลิต การทำตลาดได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ไทยเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องข้าวในทุกๆ ด้านตามที่ตั้งใจไว้"น.ส.ชุติมา กล่าว
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างประสานงานกับกรมการข้าว ในการจัด ตั้งสถาบันฯ เพื่อไม่ให้การทำงาน ซ้ำซ้อนกัน
สำหรับงบประมาณในการจัดตั้ง จะใช้งบประมาณปี 2558 จำนวน 500 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณา จัดหาแหล่งเงินให้ และยังมีเงิน จากกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 587 ล้านบาท โดยจะนำเงินในส่วนที่เก็บจากค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าวไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) มาใช้
น.ส.ชุติมา กล่าวถึงการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ ว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งแล้ว ซึ่งจะเข้ามาดูแลในเรื่องปัจจัยการผลิตข้าวและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการผลิตข้าวและดำรงชีพให้แก่ชาวนา รวมทั้งชดเชยรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในภาวะราคาตกต่ำหรือด้วยวิธีการอื่นที่เหมาะสม
โดยเงินกองทุนจะมาจาก 2 ส่วน คือ 1.เก็บจากเงินภาษีของการส่งออกข้าว 0.75% ของมูลค่าการส่งออก หรือเก็บ เงินสงเคราะห์เข้ากองทุน โดยเรียกเก็บจากผู้ส่งออกข้าวเป็นอัตราต่อตันแบบขั้นบันไดตามราคาส่งออกข้าว และ 2.เงิน สมทบจากชาวนา โดยเก็บเงินชาวนาที่สมัครใจเป็นสมาชิกปีละ 1 ครั้ง ตามอัตราที่กำหนด และรัฐช่วยเงินสมทบของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายในแต่ละปี
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้ดูแลสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศปีนี้ไม่ให้ตกต่ำจนเกษตรกรผู้ปลูกได้รับความเดือดร้อน แบบไม่ให้มีการใช้มาตรการทั้งแบบรับจำนำหรือแบบประกันรายได้ แต่ให้กำหนดมาตรการดูแลอื่นๆ ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์
สำหรับ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ณ วันที่ 22 ก.ค. กิโลกรัมละ 7.25 บาท ต่ำกว่าราคาเมื่อช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ กก.ละ 8.31 บาท ส่วนราคาซื้อหน้าโรงงานอาหารสัตว์อยู่ที่ กก.ละ 10.05-10.50 บาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ กก.ละ 10.15-10.30 บาท ราคาส่งออก (เอฟโอบี) ตันละ 285-290 ดอลลาร์สหรัฐ เท่าปีก่อน โดยการผลิตข้าวโพดในประเทศ ปี 2557/58 คาดว่าจะมีปริมาณ 5.09 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการใช้.
ลุยตั้งสถาบันข้าวครบวงจรพณ.ดึงทุกภาคส่วนร่วมทำแผนดันไทยเบอร์หนึ่งโลก
บ้านเมือง : พณ.ลุยตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว พร้อมดึงทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนร่วมทำงานในรูปคณะกรรมการ ร่วมทำแผนพัฒนาข้าวไทยอย่างครบวงจร ดันไทยเบอร์หนึ่งของโลกในทุกๆ ด้าน เผยระยะยาว คสช. สั่งจัดหนัก ทั้งการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ตั้งธนาคารข้าว จัดโซนนิ่งเพาะปลูก และตั้งกองทุนช่วยชาวนา ด้านนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ห่วงคำสั่งซื้อหด ไม่พอรับผลผลิตข้าวฤดูใหม่ ฉุดราคาตก แนะเร่งระบายสต๊อก
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลการค้าและการตลาดเพื่อการพัฒนาการผลิตและแปรรูปข้าวและผลิตภัณฑ์แบบเบ็ดเสร็จ โดยจะมีการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการบริหารสถาบัน ซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องข้าวในทุกๆ ด้านทั้งด้านการเพาะปลูก การผลิต และการตลาด
"หน้าที่หลักของสถานบันฯ จะเข้าไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต การสีแปร และการทำตลาดส่งออก โดยจะมีข้อมูลในทุกๆ ด้านอย่างครบวงจร เพื่อทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องข้าว และจะได้วางแผนการผลิต การทำตลาดได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ไทยเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องข้าวในทุกๆ ด้านตามที่ตั้งใจไว้โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานกับกรมการข้าวในการจัดตั้ง เพื่อไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อนกัน"น.ส.ชุติมา กล่าว
สำหรับงบประมาณในการจัดตั้ง จะใช้งบประมาณปี 2558 จำนวน 500 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดหาแหล่งเงินให้ และยังมีเงินจากกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 587 ล้านบาท โดยจะนำเงินในส่วนที่เก็บจากค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าวไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) มาใช้
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า การช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เน้นให้มีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น โดยได้มอบหมายให้กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์ดี การใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยและสารเคมี ตามคำแนะนำ รวมทั้งผลักดันให้เพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนหรือเสริมกับการใช้ปุ๋ยเคมีให้มากขึ้น แต่หากเป็นไปได้ให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น เพราะแนวโน้มตลาดโลกมีความต้องการสูง และขายได้ราคาดี
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้กับเกษตรกร ให้มีการกำหนดเขตที่เหมาะสมในการเพาะปลูกข้าว (โซนนิ่ง) เพราะพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูกข้าว ต้องผลักดันให้เกษตรกรไปปลูกพืชเกษตรชนิดอื่นแทน เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ทั้งนี้ คสช. ยังมีนโยบายในการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกด้วย โดยอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานและกรมพัฒนาที่ดิน
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ส่วนการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งแล้ว ซึ่งจะเข้ามาดูแลในเรื่องปัจจัยการผลิตข้าวและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการผลิตข้าวและดำรงชีพให้แก่ชาวนา รวมทั้งชดเชยรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในภาวะราคาตกต่ำหรือด้วยวิธีการอื่นที่เหมาะสม
ทั้งนี้เงินกองทุน จะมาจาก 2 ส่วน คือ 1.เก็บจากเงินภาษีของการส่งออกข้าว 0.75% ของมูลค่าการส่งออก หรือเก็บเงินสงเคราะห์เข้ากองทุน โดยเรียกเก็บจากผู้ส่งออกข้าวเป็นอัตราต่อตันแบบขั้นบันไดตามราคาส่งออกข้าว และ 2.เงินสมทบจากชาวนา โดยเก็บเงินชาวนาที่สมัครใจเป็นสมาชิกปีละ 1 ครั้ง ตามอัตราที่กำหนด และรัฐช่วยเงินสมทบของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายในแต่ละปี
ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีความเป็นห่วงผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ปี 2557/2558 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ปลายเดือนกันยายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ในพื้นที่ภาคอีสานที่มีฝนตกชุก คาดว่า จะมีปริมาณสูง 7-8 ล้านตัน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งบริหารจัดการ โดยเฉพาะการเร่งระบายข้าวในสต๊อกรัฐ เพื่อให้มีออร์เดอร์เหลือเพียงพอรองรับกับข้าวฤดูกาลใหม่ เพราะหากผลผลิตข้าว มีปริมาณมาก แต่ไม่มีคำสั่งซื้อจะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวลดลงได้ ซึ่งช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด ที่จะระบายข้าวในสต๊อก