- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 13 August 2014 23:35
- Hits: 2748
'กุลณี อิศดิศัย' แนะทางรอดป้องต่างชาติขโมยทรัพย์สินปัญญา
บ้านเมือง : ปัจจุบันทรัพย์สินทางปัญญาได้เริ่มมีบทบาทกับผู้ส่งออกของไทยมากขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องของปัญหาและอุปสรรค เมื่อผู้ประกอบการส่งสินค้าหรือบริการไปต่างประเทศ โดยอาจถูกผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของตนไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศเอาไว้ หรือการถูกปลอมแปลงเลียนแบบเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่ประสบความสำเร็จแล้ว
ที่ผ่านมามีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการในไทยหลายกรณี ผู้ประกอบการของไทยจึงควรเริ่มศึกษาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อต้องการส่งสินค้า หรือบริการไปต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด
นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีรักษาการอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ข้อมูลว่า ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า หรือสิทธิบัตร จะต้องจดทะเบียนขอรับความคุ้มครอง และจดที่ใดก็คุ้มครองเฉพาะในเขตประเทศนั้น ยกเว้นลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองทันทีหลังจากสร้างสรรค์ผลงานในประเทศสมาชิกสนธิสัญญากรุงเบิร์น 167 ประเทศ โดยไม่ต้องจดทะเบียน ผู้ส่งออกไทยจึงควรจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ ในไทยและในต่างประเทศที่จะส่งสินค้าหรือบริการไปจำหน่าย โดยควรศึกษาหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องระบบของประเทศที่ส่งออกว่ามีขั้นตอนและกระบวนการอย่างไร รวมทั้งสามารถสอบถามและติดตามข้อมูลได้ที่กรมฯ
ทั้งนี้ ลักษณะการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่พบบ่อย เช่น ถูกผู้ผลิตรายอื่นในประเทศที่ส่งสินค้าไปขายเลียนแบบเครื่องหมายการค้า และนำไปยื่นจดทะเบียนในประเทศนั้น เพื่อให้ผู้บริโภคสับสนหลงผิด จนทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่เป็นผู้ส่งออกไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนได้ และถูกบุคคลอื่นเๅลียนแบบดีไซน์และแพ็กเกจจิ้งของสินค้า จนทำให้สูญเสียโอกาสในการทำตลาดในประเทศนั้น และเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องบังคับคดี
สำหรับ วิธีป้องกันและแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดปัญหาการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ให้ทำความเข้าใจกับระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศนั้นๆ เนื่องจากแต่ละประเทศอาจมีระบบการจดทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ต่างกัน และต้องจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในทุกตลาดที่มีแผนจะส่งสินค้าหรือบริการไปจำหน่าย และตลาดที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าปลอม รวมทั้งต้องติดตามการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนากฎหมายของประเทศที่จะส่งสินค้าหรือบริการไปจำหน่ายอยู่เสมอ และให้ติดต่อขอรับคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือจากกรมฯ ในทันที เมื่อเกิดข้อพิพาทเกิดขึ้น เพื่อบรรเทาความเสียหาย
ส่วนในด้านการเตรียมความพร้อมในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ นางกุลณีได้กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาความร่วมมือสิทธิบัตรขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ที่เรียกว่า Patent Cooperation Treaty หรือ PCT แล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนโดยผ่านช่องทาง PCT ที่กรมฯ ได้
นอกจากนี้ กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการแก้กฎหมาย เตรียมความพร้อมของบุคลากรและองค์กร เพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาที่จะอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกอีก 2 ฉบับ ภายในปี 2558 คือ ภาคีพิธีสารกรุงมาดริด เพื่ออำนวยความสะดวกการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และภาคีความตกลงกรุงเฮก เพื่ออำนวยความสะดวกการจดทะเบียนการออกแบบระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายการค้า และการออกแบบในต่างประเทศ สามารถมายื่นคำขอจดที่กรมฯ ได้ในอนาคตเมื่อไทยเข้าเป็นภาคีแล้ว
ปัจจุบันมีภาคี PCT ทั้งสิ้น 148 ประเทศ ประเทศอาเซียนที่เข้าเป็นภาคี PCT แล้ว จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ส่วนอีก 2 ประเทศที่ยังไม่เข้าเป็นภาคี PCT คือ เขมร กับเมียนมาร์ ส่วนพิธีสารมาดริด มีทั้งสิ้น 91 ประเทศ ประเทศอาเซียนที่เข้าเป็นภาคีพิธีสารแล้วจำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ และภาคีความตกลงกรุงเฮก มีทั้งสิ้น 62 ประเทศ ประเทศอาเซียนที่เข้าเป็นภาคีแล้ว 2 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ และบรูไน
"ไทยได้เข้าเป็นสมาชิก PCT แล้วตั้งแต่ปี 2552 มีคำขอที่ยื่นผ่านระบบ PCT จำนวน 200 กว่าคำขอ และกำลังจะเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริดและภาคีความตกลงกรุงเฮก ภายในปี 2558 ซึ่งจะทำให้การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศที่ไทยจะส่งสินค้าไปจำหน่าย หรือประเทศที่ไทยมีโรงงานตั้งอยู่ หรือประเทศที่มีคู่แข่งขายสินค้าประเภทเดียวกัน หรือประเทศที่ไทยสั่งวัตถุดิบในการผลิต สามารถทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น"นางกุลณี กล่าว
นางกุลณี กล่าวอีกว่า กรมฯ ยังได้เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้เน้นการสร้างความรู้ สร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยให้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศก่อนส่งออก เพื่อป้องกันการถูกละเมิด ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการออกไปให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างต่อเนื่อง
ยกตัวอย่างเช่น การจัดสัมมนาเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศเวียดนามและ สปป.ลาว ที่ขอบแก่น, การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่สงขลา, การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในกัมพูชา ที่จันทบุรี, ก้าวสู่ AEC คุณลืม IP หรือไม่ ที่เชียงใหม่ และการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทยที่เชื่อมเศรษฐกิจของอาเซียนเข้ากับจีนตอนใต้ ที่กรุงเทพฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาแห่งอาเซียน หรือ ASEAN Working Group on Intellectual Property Cooperation-AWGIPC อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นคณะทำงานหลักของอาเซียนเพื่อหารือความคืบหน้าการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC
ทั้งนี้ มีกิจกรรมที่อาเซียนจะผลักดันร่วมกัน ได้แก่ การผลักดันให้สมาชิกอาเซียนเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริด ภาคีความตกลงเฮก ภายในปี 2558 และการจัดทำเว็บไซต์กลาง www.aseanip.org เพื่อเผยแพร่ข้อมูล IP ของอาเซียน โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ซึ่งจะทำให้การเข้าสู่ข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญาในอาเซียนมีความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกันในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยจัดหาผู้ที่จะทำหน้าที่ประสานงานในเรื่องการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในประเทศตน โดยมีประเทศฟิลิปปินส์เป็นผู้นำกิจกรรมนี้ โดยในเดือน ต.ค.57 จะเชิญผู้แทนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม IPR Enforcement Summit ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งจะรณรงค์ปลูกจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา และร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักในความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาในอาเซียน
ทางด้านความร่วมมือด้านสิทธิบัตร อาเซียนได้จัดทำโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบสิทธิบัตรระหว่างสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน (ASPEC) ซึ่งอาเซียนได้มีการประกาศใช้แล้วตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่ผ่านมา โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ ผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรในอาเซียน สามารถนำผลการตรวจสอบสิทธิบัตรที่ได้ในประเทศอาเซียนแรกมาใช้ในการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรในอาเซียนประเทศอื่นๆ ได้ด้วย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบสิทธิและได้ผลเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาเซียนจะเริ่มหารือเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนสำหรับปี 2016-2020 ในกลางปีนี้ เพื่อเตรียมแผนรองรับหลังการเป็น AEC ด้วย โดยจะเน้นในประเด็นหลักๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านการตรวจสอบและรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการเข้าเป็นภาคีความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศของ WIPO เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในอาเซียนให้ได้รับการยอมรับในระดับโลก การพัฒนาระบบ IT ของอาเซียน การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็ง ทั้งภาครัฐ เอกชน ในและนอกอาเซียน รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกและให้ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่ประชาชนในประเทศอย่างต่อเนื่อง