- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 26 April 2017 21:56
- Hits: 2631
ก.พาณิชย์ พร้อมผลักดันการส่งออกไปอินโดนีเซียหลังมองมีศักยภาพสูงทางการค้าการลงทุน
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการหารือในที่ประชุมเพื่อผลักดันการส่งออกไปประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีศักยภาพสูงทางการค้าการลงทุน โดยเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญในประเทศอินโดนีเซียที่ไม่อยากให้นักธุรกิจมองข้าม 4 เมือง คือ กรุงจาการ์ตา ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน เป็นที่ตั้งของสำนักงานต่างๆ มีผู้ที่มีกำลังซื้อและชนชั้นกลางอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังเกาะต่างๆ ของประเทศ มีท่าเรือใหญ่ที่สุด คือ Tanjung Priok
เมืองสุราบายา เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 มีประชากรราว 2.5 ล้านคน มีชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นจุดกระจายสินค้าจากเกาะชวาไปยังเกาะทางตอนเหนือและทางตะวันออกอื่นๆ เช่น เกาะกาลิมันตัน เกาะสุลาเวสี เกาะโมลุกกะ เกาะบาหลี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ คือ หินชอล์ก หินอ่อนน้ำมันและเกลือ ท่าเรือที่สำคัญ คือ Tanjung Perak
เมืองเมดาน เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเกาะสุมาตราและใหญ่ที่สุดในทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของประเทศ อยู่ใกล้กับประเทศมาเลเซียบริเวณช่องแคบมาลายู อันเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญและใกล้กับประเทศสิงคโปร์ รวมถึงภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยบริเวณจังหวัดสตูล ท่าเรือที่สำคัญ คือ Belawan
เมืองมากัสซาร์ เป็นเมืองหลวงของเกาะสุลาเวสี และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเกาะสุลาเวสี มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 2 ล้านคน เป็นเมืองศูนย์กลางค้าขายของเขตอินโดนีเซียตะวันออกและเป็นศูนย์กลางด้านการประมงและการค้าปลิงทะเล ท่าเรือที่สำคัญ คือ Port of Makassar
กระทรวงพาณิชย์ ตระหนักดีถึงการที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจ และให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ต้องการไปทำธุรกิจต่างประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาในประเทศอินโดนีเซีย โดยได้รับมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้บริการข้อมูล คำแนะนำเชิงลึก รวมถึงการให้บริการด้านสถานที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการศูนย์ AEC Business Support Center หรือศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวจะเป็นหน่วยสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อมูลการค้า การจัดตั้งธุรกิจ รายงานตลาดเชิงลึก และข้อมูลด้านการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ ในอินโดนีเซีย เป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและหน่วยงานพันธมิตรจัดขึ้นให้แก่นักธุรกิจไทยและเครือข่ายทราบ นอกจากนี้ศูนย์ฯ มีการให้บริการสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนแก่ผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการติดต่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต่อไปกระทรวงมีแนวทางที่จะเชื่อมโยงศูนย์ดังกล่าวนี้ในหลายๆ ประเทศ เข้ากับสถาบัน NEA (New Economy Academy) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทย
ในปีที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าการค้ากับอินโดนีเซีย 14,452.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออก 8,078.46 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 6,374.36 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2560 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่าการค้า 2,288.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออก 1,276.06 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 1,012 ล้านเหรียญสหรัฐอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมากกว่า 250 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ใน ASEAN ประชากรที่มีฐานะดี แม้จะมีไม่เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20-30 ล้านคน แต่มีกำลังซื้อสูงมาก และนิยมสินค้าที่มีคุณภาพดี เป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน แร่ธาตุ ป่าไม้ เป็นต้น กำลังพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการรถไฟฟ้า MRT ในกรุงจาการ์ตา แต่อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคหลายด้านที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ เช่น กฎระเบียบ มาตรการทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัย
กิจการเด่นที่เปิดให้ต่างชาติลงทุนตามระเบียบฉบับปัจจุบัน ได้แก่ กิจการที่เปิดให้ต่างชาติลงทุนได้ 100% เช่น การผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมยา ธุรกิจ E-Commerce ที่มีดำเนินการร่วม (Partnership) กับ SMEs การขายปลีก (เงินลงทุนสูงกว่า 100,000 รูเปียห์) อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการถ่ายทำ (Production) การกระจายภาพยนตร์ สตูดิโอ เสียง และโรงภาพยนตร์ เป็นต้น
อินโดนีเซียนั้นเป็นชาติหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการไทยที่มีตราสินค้าเป็นของตนเอง ควรมีการจดเครื่องหมายการค้าในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อรองรับการขยายตลาดและฐานการผลิตมายังอินโดนีเซีย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวเสริมด้วยว่า ปัจจุบัน นอกเหนือจากการจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าแล้ว การนำ QR Code มาใช้ ก็จะสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าได้ เช่น ข้อมูลใน QR Code จะบอกชื่อ-ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิต รายละเอียดสินค้า วันเดือนปี ที่ผลิต รวมทั้งรายละเอียดสินค้าอื่นๆ ที่ผู้เป็นเจ้าของสินค้าอยากจะสื่อไปยังลูกค้า แถมยังใช้ลิงก์เชื่อมไปยังเว็บไซต์หรือร้านค้าออนไลน์ได้อีกด้วย ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)ได้โดยเฉพาะในสินค้า ข้าว ผัก ผลไม้สด
อินโฟเควสท์