- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 14 April 2017 23:33
- Hits: 9556
รมว.พาณิชย์ เผยผลหารือ รมต.อาเซียน-ญี่ปุ่นเห็นพ้องกระชับเจรจา RECP ให้สรุปในปีนี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การเดินทางไปร่วมงาน AEM Roadshow to Japan 2017 ระหว่างวันที่ 6-9 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ กรุงโตเกียว จังหวัดเกียวโต จังหวัดโอซากา และจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น รมต.เศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนและบางประเทศมีการใช้นโยบาย Protectionism
อาเซียนและญี่ปุ่นจึงเห็นพ้องให้กระชับความสัมพันธ์ ด้านเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยต่างให้ความสำคัญกับการเจรจาสร้างพันธมิตรในกลุ่มเศรษฐกิจการค้าเสรีในภูมิภาคอาเซียน (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ให้มีข้อสรุปภายในปีนี้ โดยให้เป็นความตกลงการค้าเสรีแห่งศตวรรษที่ 21 โดยครอบคลุมทั้งการเปิดตลาดและความร่วมมือในประเด็นใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น โดยต้องคำนึงถึงระดับการพัฒนาและความพร้อมทางกฎหมายที่แตกต่างกันระหว่างประเทศภาคี
ส่วนการหารือระหว่าง รมต.เศรษฐกิจอาเซียน กับ รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น นั้นได้กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นซึ่งเน้นการยกระดับภาคการผลิตสู่ Industry 4.0 ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การยกระดับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้เข้ามารวมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาค ในการนี้ญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนการดำเนินการของอาเซียนตามวิสัยทัศน์ ปี 2568 (2025) ซึ่งข้อเสนอต่างๆ ของญี่ปุ่นล้วนสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0
และในการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ตนเองได้กล่าวเปิดงาน Business Symposium ในนามของอาเซียน โดยมีผู้ประกอบการและนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 600 คน โดย รมต.เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOC) เพื่อพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมและอุตสาหกรรมใหม่ระหว่างกัน ทั้งนี้ในงานยังมีกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างบริษัท Startup ของประเทศอาเซียนกับญี่ปุ่น ในสาขา Internet of Things (loT) ดิจิทัล การบริการทางการแพทย์ การบริการและโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีบริษัท Startups ของไทยเข้าร่วมจำนวน 5 บริษัท ถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นจุดแข็งของญี่ปุ่น สามารถนำมาเสริมและปรับใช้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งไทย
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ญี่ปุ่นได้จัดกิจกรรมดูงานและการพบปะกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นหลายบริษัท อาทิ ฮิตาชิ พานาโซนิก ชิมาเซกิ (ผลิตเครื่องจักรสำหรับทอผ้า 3D) ศูนย์วิจัยเสต็มเซลส์ การพบปะกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล กลุ่มนักธุรกิจ Keidanren และประธานเจโทร เป็นต้น ซึ่งต่างให้ความสนใจที่จะขยายการค้า (สินค้าและบริการ) การลงทุน และความร่วมมือด้านต่างๆ กับอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้าสองฝ่ายในปี 2558 กว่า 238 พันล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนทางตรงอันดับ 2 ของอาเซียน โดยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 17.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยญี่ปุ่นยังคงครองตำแหน่งนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 14.5 ของเม็ดเงินลงทุนทางตรงทั้งหมดในอาเซียน
ในปี 58 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย รองจากจีน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (55-59) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 59,061 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 59 การค้ารวมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 51,241 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการเติบโตลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 0.11 สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ ยานยนต์ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น
อินโฟเควสท์