- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 03 April 2017 07:20
- Hits: 9998
รัฐบาล จัดงบ 1 หมื่นลบ.ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯใช้หนุน R&D มอบสุวิทย์-BOI กำหนดกรอบหลักเกณฑ์
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (กกข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบหมายให้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อจัดทำกรอบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ตามกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ โดยจะต้องเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่เคยมีการผลิตหรือให้บริการอยู่ในประเทศไทย หรือเป็นการใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง หรือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงกว้าง โดยให้นำหลักเกณฑ์กลับมานำเสนออีกครั้งต่อที่ประชุมอีกครั้งในเดือนเมษายน
โดย กกข.เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่หลังจาก พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ให้กับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมการลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และการได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ
สำหรับ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีไว้แล้วจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน การวิจัยพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน โดยบริษัทที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจาที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
โดยปัจจุบันในต่างประเทศได้มีกองทุนในลักษณะดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ประเทศมาเลเซีย มีงบประมาณ 8,500 ล้านบาท ที่มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง, ประเทศสิงคโปร์มีงบประมาณ 70,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนของไทยจะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่นที่จัดทำเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นความต้องการของประเทศ โดยมีการจัดสรรเงินกองทุนในลักษณะต้องมีผลงานเกิดขึ้นก่อนแล้วจ่ายเงินทีหลังเป็นงวดๆไป เพื่อให้คณะกรรมการสามารถติดตามประเมินผลการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
อินโฟเควสท์