- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 12 August 2014 23:28
- Hits: 2563
พณ.ส่งสัญญาณรับมือจีเอสพีแนะสบช่องหันลงทุนเพื่อนบ้านใช้สิทธิ์ส่งออก
บ้านเมือง : 'พาณิชย์'เตรียมแผนรับมืออียูตัดจีเอสพีปีหน้า ดันสินค้าขายตลาดจีน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอาเซียนแทน ขณะที่แนะมุ่งลงทุนเพื่อนบ้านแล้วใช้สิทธิ์ส่งออก ด้านสหรัฐรอลุ้นต่ออายุจีเอสพีโครงการใหม่ พ.ย.นี้
นางดวงกมล เจียมบุตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.57 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) ได้ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แก่ไทย แต่ได้กำหนดให้มีระยะเวลาในการปรับตัว 1 ปี ทำให้ช่วงนี้สินค้าไทยยังคงได้รับสิทธิ์จีเอสพีจนถึงสิ้นปี 2557 และหลังจากนั้นจะต้องเริ่มจ่ายภาษีที่อัตรา MFN ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปตลาดอียูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ กรมฯ ได้เตรียมแนวทางในการรับมือ โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออกตลาดอื่นทดแทน เช่น จีน เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอาเซียนให้มากขึ้น โดยมีแผนส่งเสริมการทำตลาดข้างต้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากผู้ประกอบการยังต้องพึ่งพาตลาดอียู ก็ควรพิจารณาการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงได้รับสิทธิ์จีเอสพีอยู่ แล้วใช้ประโยชน์ในการส่งออก
"กรมฯ เห็นว่า เพื่อให้สินค้าไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมีมูลค่าเพิ่มตรงตามแนวโน้มของตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยไม่ต้องพึ่งพาสิทธิ์จีเอสพีอีกต่อไป" นางดวงกมล กล่าว
นางดวงกมล กล่าวว่า สินค้าไทยที่จะยังคงได้รับสิทธิ์จีเอสพีในช่วงให้ปรับตัวในปี 2557 เช่น กุ้ง จักรยาน รองเท้า ปลาหมึก เม็ดพลาสติก มอเตอร์ไฟฟ้า บอลแบริ่ง น้ำมันปาล์มดิบ ล้อรถยนต์ ทูน่ากระป๋อง โดยไตรมาสแรกปี 2556 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิ์จีเอสพีมีมูลค่า 2,789 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยมีการขอใช้สิทธิ์ดังกล่าวมูลค่ารวมเพียง 2,170 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 77.83% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด
ส่วนสินค้าที่ใช้สิทธิ์จีเอสพีสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ยานยนต์ขนส่ง เลนส์แว่นตา ยางนอกรถยนต์ ถุงมือยาง และรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ ประเทศที่ถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีเหมือนไทย ได้แก่ จีน เอกวาดอร์ และมัลดีฟส์
สำหรับ โครงการจีเอสพีของสหรัฐ ได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ก.ค.56 และสหรัฐยังไม่ได้ดำเนินการต่ออายุจนถึงปัจจุบัน แต่รายงานล่าสุดทราบว่าสหรัฐจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายการต่ออายุจีเอสพีในเดือน พ.ย.57 ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทย ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดทำข้อมูลส่งให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ที่สหรัฐมีต่อไทยแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองแรงงาน
อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญของไทยที่ได้รับการยกเว้นภาษีภายใต้โครงการจีเอสพีสหรัฐ เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มอื่นๆ เลนส์แว่นตา ชุดสายไฟ และผลไม้ปรุงรส โดยในไตรมาสแรกปี 2557 ไทยมีมูลค่าส่งออกภายใต้สิทธิ์จีเอสพีไปสหรัฐ รวม 871 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2556 ที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 3.34 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.9% จากปีก่อนหน้า แต่ยังถือว่าเป็นประเทศที่ใช้สิทธิ์จีเอสพีสูงเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกปรับลดคาดการณ์อัตราเติบโตของการส่งออกไทยปี 2557 จากเดิมอยู่ที่ 3% และมาอยู่ที่ 1.6% หรือประมาณ 232,160 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นรูปเงินบาท 7.67 ล้านล้านบาท ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม จากก่อนหน้านี้นายนพพรเคยบอกว่าตัวเลขทั้งปีอาจจะติดลบ 0.5% ถึงขยายตัว 0% ทีเดียว แต่เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากตัวเลขการค้าชายแดนยังดีและเติบโต รวมทั้งการเร่งคำสั่งซื้อของประเทศสหรัฐ ยุโรป ช่วงครึ่งปีหลัง ก่อนที่ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี หรือจีเอสพีในต้นปี 2558 ทำให้ประเทศผู้นำเข้าเร่งสต๊อกสินค้าไว้ก่อนราคาจะปรับสูงขึ้น แต่คำสั่งซื้อที่เข้ามาช่วงครึ่งปีหลังไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน การตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ของยุโรปสินค้า 723 รายการในปีหน้า ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน การปรับลดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทยลงในระดับเทียร์ 3 และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ผู้ส่งออกต้องปรับตัวเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน คุณภาพ ประสิทธิภาพ ลดต้นทุนเพื่อส่งออกได้มากขึ้น
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ ราคายางพาราในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 (ม.ค.-มิ.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากปรับตัวสูงสุดในช่วงต้นปี 2554 ซึ่งสะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิตกลุ่มสินค้ายางพารา หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลง 20.2%