WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC มาล โชคลำเลศพาณิชย์ เผยแนวโน้มจีดีพีญี่ปุ่นปีนี้โต 1.5% ช่วยดันสินค้ารถยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-ท่องเที่ยวไทยขยายตัว

     พาณิชย์ เผย ดัชนีเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้น หลังคาดจีดีพีปีนี้โต 1.5%  สบช่องดันกลุ่มสินค้ารถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน และธุรกิจท่องเที่ยวของไทยขยายตัว

       นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2560 ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์แนวโน้มจีดีพีปีนี้จะเติบโตได้ 1.5 % โดยรายได้ประชากรจะเติบโตขึ้น 1.7% อัตราการว่างงานเหลือ  2.9% ด้านภาคการผลิตและค่าครองชีพจะขยายตัว 2.7% และ 1.1% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการคลังต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ นโยบายทางการเงิน “Abenomics” หรือนโยบายลูกศรสามดอก และยุทธศาสตร์ฟื้นฟูญี่ปุ่นปี 2559 เป็นต้น

       ญี่ปุ่นได้ร่างงบประมาณรายจ่ายด้านเศรษฐกิจโดยเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อการค้นคว้าและพัฒนา การสนับสนุนการเป็นประเทศผู้นำด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการปฏิรูปอุตสาหกรรมที่สี่หรืออุตสาหกรรมที่เน้นข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมด้วย โดยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น การสร้างเสริมการส่งออก การพัฒนาประสิทธิภาพ การทำการเกษตรแปลงใหญ่ และการสนับสนุนองค์กรการเกษตรต่างๆ เป็นต้นนางมาลี กล่าว

        น.ส.ณัฐิยา สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า ปี 2559 จีดีพีญี่ปุ่นขยายตัว 1% เป็นการขยายตัวติดต่อกันตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกทั้งสินค้า อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน และภาคบริการซึ่งรวมการใช้จ่ายในประเทศญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งการลงทุนในภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าการบริโภคของประชาชนจะขยายตัวลดลง เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลให้ผักผลไม้มีราคาแพงและยอดจำหน่ายเครื่องนุ่งห่มลดลง ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างช้า ๆ

       ด้านการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย การส่งออกจากญี่ปุ่นมาไทยในปี 2559 มีมูลค่าราว 27,421 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง  2.03% โดยญี่ปุ่นส่งออกมาไทยเป็นอันดับที่ 6 คิดเป็นสัดส่วน 4.25% และไทยจัดเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนของญี่ปุ่น ในขณะที่การนำเข้าของญี่ปุ่นจากไทยในปี 2559 มีมูลค่า 20,150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 1.35%

        หมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง โดยเฉพาะไก่แปรรูป  มูลค่า 1,281 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.01% กุ้งและปูสด แช่เย็น และแช่แข็ง มูลค่า 121 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12.17% ผลไม้กระป๋อง มูลค่า 72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14.41 % ในจำนวนนี้ญี่ปุ่นนำเข้าสับปะรดกระป๋องจากไทยเพิ่มขึ้นกว่า  34.78 %

      หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นนำเข้ารถยนต์ จักรยานยนต์ และส่วนประกอบจากไทย มูลค่า 1,085 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.23% ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของบริษัทญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในอาเซียน และความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์มูลค่า 430 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 51.50% และเส้นใยนำแสงและเลนส์มูลค่าการนำเข้า 228 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.17 %

         หมวดสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย 479 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.22% อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของญี่ปุ่นในภาพรวมลดลง1.97 % เนื่องจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมการแต่งตัวของคนรุ่นใหม่ส่งผลให้กำลังบริโภคเสื้อผ้าสำเร็จรูปของคนญี่ปุ่นลดลง ขณะเดียวกันภาพรวมการนำเข้าเครื่องสำอางและน้ำหอมของญี่ปุ่นมีมูลค่า 466 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.36% โดยมีปริมาณการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นด้วย

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!